-- advertisement --



ผู้ปกครองโอด “ถ้าเป็นไปได้ อยากให้หยุดเรียนไปเลย” เพราะลูกหลานกดดันจากระบบ “เรียนออนไลน์” หนักกว่านั้น ตอนนี้เพิ่มเลเวลไปถึง “สอบออนไลน์” แล้ว แต่ตลกร้าย เด็กแทบไม่มีความรู้ที่จะนำไปวัดผล แถมได้ความเครียดมาเป็นของแถม


ดร็อปเรียน (ออนไลน์) ไปเลยดีกว่า?



“เรียนออนไลน์ไปแล้วแต่ความรู้ไม่เพียงพอที่จะนำไปสอบ เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติจริงๆ สมมติว่ามีการสอบเคมี เราไม่ได้เรียนรู้จริงๆ จากการทดลอง อาจารย์ก็ออกข้อสอบตามตัวชี้วัด ซึ่งมองว่าเรียนไม่ได้ตามตัวชี้วัดนั้น เพราะไม่ได้เรียนในห้องเรียนคงไม่ได้ความรู้ครบถ้วนทั้งเน็ตที่ไม่เสถียรในการเรียน เปลือง internet เปลืองเงิน คุณภาพการเรียนลดลงจนทำให้เกิดความเครียดและกดดันตัวเอง อยากให้รัฐบาลมองเห็นปัญหาตรงนี้ เพราะมันทำให้เห็นถึงช่องโหว่ของการศึกษาไทยมากขึ้น”



นี่คือเสียงของเหยื่อการเรียนออนไลน์ชั้น ม.6 ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่ออกมาสะท้อนช่องโหว่รูใหญ่ว่า นอกจากการเรียนหน้าจอจะไม่ช่วยให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีแต่จะทำให้เกิดความเครียดและความกดดัน

และไม่ใช่แค่ตัวเหยื่อเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ตัวผู้ปกครองเองก็เกิดความเครียดไปกับลูกหลานของตัวเองไม่แพ้กัน ถึงขั้นออกปากอยากให้ลูกหยุดเรียนไปเลย ดีกว่าทู่ซี้เรียนและสอบออนไลน์ต่อไปแล้วทำให้ชีวิตย่ำแย่ไปเลยก็ได้

“เด็กมีความเครียดอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หยุดเรียนไปเลย หลังโควิด-19 หายผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ค่อยเริ่มฟื้นฟูใหม่ทุกอย่าง ไม่งั้นมันไม่จบ

อย่างวิชาดนตรี เรียนกลองเด็กก็ต้องมานั่งเคาะจังหวะกับพื้นบ้าน ไม่มีกลองจริงใช้ ทั้งที่ต้องเรียนกลอง สภาพแวดล้อมรอบๆ ก็ไม่เอื้ออำนวยเพราะบ้านติดถนน การอัดวิดีโอส่งงานครูก็จะมีเสียงรถแทรกรบกวนเข้ามาเสมอ กลายเป็นอุปสรรคทุกอย่าง ทำให้ไม่มีสมาธิกับการเรียนเท่าที่ควร”

[รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา]

ถ้าลองมองผ่านแฮชแท็ก #เรียนออนไลน์ จะเห็นว่ามีผู้ใช้งานในทวิตเตอร์ออกมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะกินเวลามาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ผู้คนกลับมองว่าระบบการศึกษาไทยยิ่งถอยหลังลงไปทุกวัน

และคนที่จะช่วยวิเคราะห์ประเด็นนี้ได้ดีคนหนึ่ง คือกูรูด้านการศึกษาอย่าง รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน โดยอาจารย์ได้เผยมุมมองผ่าน ทีมข่าว MGR Live ว่า การเรียนออนไลน์ยังจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องไม่ทำให้เด็กเครียดเกินไป และต้องไม่วัดผลการเรียนออนไลน์แบบเดิม แต่ให้วัดที่ความพยายามของเด็ก



“ในมุมมองของผมนะ มันจะเป็นปัญหามากๆ เพราะเราเน้นเนื้อหาสาระ อาจจะต้องไปมองถึงการดูพัฒนาการในการเรียนรู้ในแต่ละชิ้นงานของเขาว่าเป็นยังไงเสียมากกว่า ถ้าเป็นการวัดผลของการสอบ อันนี้ต้องนั่งคุยกันยาว เพราะว่ามันเป็นการสอบ content ก็อาจจะไม่เหมาะ

คือวิธีการวัดประเมินอาจจะไม่เหมาะ และการสอบออนไลน์อาจจะไม่เหมาะกับเด็กด้วย ถ้าเรายังเรียนออนไลน์อยู่และใช้ระบบประเมินแบบปกติ เน้นวัดความรู้อย่างเดียวอาจจะเป็นปัญหา

ดังนั้น อาจจะต้องปรับการวัดประเมินโดยวิธีการอื่นๆ เช่น ดูจากใบงานร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กที่ทำอยู่ว่ามันโอเคไหม และไม่ให้วัดประเมินแบบตัดสิน แต่ต้องวัดประเมินเผื่อดูพัฒนาการของเขา มันจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก

ในระบบการเรียนออนไลน์อาจจะไม่เต็ม 100% แต่ยังไงก็ตาม วิธีการเรียนรู้ของเขาก็สำคัญ คือถ้าพูดก็ต้องปรับวิธีการของคุณครูด้วยเหมือนกัน ทำให้เป็น active learning มากขึ้น เรียนผ่านตัว project ให้มากขึ้น มากกว่าการใช้ content”


แนะ “บูรณาการ” ลดความเครียดเด็ก



ผลกรรมของ “เหยื่อการศึกษาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เรียนออนไลน์ อย่างที่กำลังเป็นวิกฤตของทั้งประเทศหรือทั่วโลก แต่เกิดขึ้นมานานแล้วที่ประเทศไทย เพราะระบบการศึกษาที่แยกรายวิชาออกจากกันเป็นส่วน เด็กเลยต้องรับบทหนัก เพราะต้องเรียนให้ครบทุกรายวิชาตามที่โครงสร้างกำหนดไว้ จะทำให้เด็กเกิดความเครียดสะสม และอาจถึงขั้นปลิดชีพตัวเอง

อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น มีรายงานว่าในปีนี้เด็กตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง สังเวยการเรียนออนไลน์ไปมากถึง 270 คน ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 63 ถึง 29 ราย ทั้งหมดนี้คาดการณ์ว่าเกิดจากความเครียดสะสม จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ทั้งที่ญี่ปุ่นเองมีการเรียนออนไลน์น้อยกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ



องค์กรพิทักษ์เด็กและโรงเรียนในญี่ปุ่น จึงพยายามหาวิธีการเพื่อช่วยเหลือเด็ก เช่น เพิ่มโอกาสให้เด็กที่เผชิญความยากลำบากจากโรคระบาด ได้มีที่ปรึกษาและมีกิจกรรมนอกบ้าน รวมทั้งสอนให้เด็กรู้จักประเมินตัวเองว่ากำลังเครียด ซึมเศร้า และสอนให้รู้วิธีขอความช่วยเหลือด้วย

ลองหันกลับมามองที่บ้านเมืองเรา ในภาวะความกดดันที่ต้องทั้งเรียนทั้งสอบให้ครบทุกรายวิชา ยิ่งกว่าแดนอาทิตย์อุทัยที่ยกตัวอย่างเอาไว้เสียอีก

เกี่ยวกับประเด็นนี้ อาจารย์ท่านเดิมได้ให้มุมมองว่า ถ้ามีการรวมวิชาเรียนเข้าด้วยกันจะทำให้เด็กไม่ต้องเรียนหนัก ทั้งยังมองว่าจะเป็นการลดความเครียดให้เด็ก เหมือนเป็นการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะทำให้เด็กได้ประสบการณ์มากกว่าการเรียนเพื่อเน้นเอาไปทำข้อสอบเพียงอย่างเดียว



“ถ้าต้องเรียนออนไลน์ทุกวิชาก็จะลำบากเพราะเป็นเด็ก แต่ถ้าเป็น project ที่บูรณาการเนื้อหาหลายวิชาได้ ให้เด็กทำ project ก็จะเป็นผลดีมากกว่า เช่น ภาษาและการสื่อสาร อาจจะมองถึงการใช้เรื่องของการเอาวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษมารวมกันก็ได้



แต่เรียนรู้ผ่านอะไร อันนี้สำคัญ เช่น สนใจเรื่องของสัตว์ดึกดำบรรพ์พวกไดโนเสาร์ จะทำยังไงให้เรื่องนี้สามารถเชื่อมไปภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ ไม่ใช่มานั่งสอนทีละวิชา ซึ่งก็เป็นวิธีคิดในการออกแบบหลักสูตร

แต่จะทำให้เด็กเรียนรู้สาระได้ครบถ้วนไหม อันนี้ต้องนั่งคุยกันว่าสาระที่พูดถึงเนี่ย เด็กต้องการเรียนรู้เพื่อเอาไปสอบอย่างเดียวหรือไม่ ในมุมมองของการพัฒนาคนผมมองว่าไม่โอเคเท่าไหร่ รวมทั้งในสถานการณ์ที่ปกติด้วย

ถ้าเรายังมีการเรียนการสอนแบบเดิม คอนเทนต์ 8 วิชา สุดท้ายก็เรียนเพื่อสอบอย่างเดียว แต่ไม่ได้เรียนรู้ตัวกระบวนการจริงๆ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวของเด็กมันจะไม่เกิด สุดท้ายมันก็แค่การเรียนผ่านระบบออนไลน์ หรือในห้องเรียน โดยใช้เนื้อหาสาระที่เราสอนไปโดยที่มีการวัดผลแล้วก็จบ”


ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

-- advertisement --