-- advertisement --

Submitted on Sat, 2021-04-24 21:35

สำนักพิมพ์ Illiminations Editions จัดงานเสวนาออนไลน์ วิเคราะห์สังคมไทยผ่านประวัติศาสตร์สามัญชนของอินเดียจากหนังสือ “กบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม” กับ 3 นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์

24 เม.ย. 2564 วันนี้ (24 เม.ย. 2564) สำนักพิมพ์ Illuminations Editions จัดงานเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “อ่าน กบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม ของ รณชิต คูหา (Ranajit Guha) แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น” โดยมี ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิริยะ สว่างโชติ นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ร่วมเสวนา

ตามไท เผยว่า ตนเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาอังกฤษ หรือ Elementary Aspects of Peasant Insurgency in Colonial India มาแล้ว ความรู้สึกในตอนนั้น คือ ความยากในชื่อคนและชื่อสถานที่ คล้ายกับการอ่านสามก๊กครั้งแรกแล้วต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่ม เพราะไม่คุ้นเคยกับชื่อสถานที่และตัวละคร แต่ กบฎชาวนา ของ รณชิต คูหา ฉบับภาษาไทย แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น นั้นอ่านแล้วเข้าใจง่าย เพราะภาษาที่ใช้ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับภาษาไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต นอกจากนี้ ตามไท ยังคิดว่าภาษาที่ คูหา ใช้ในฉบับภาษาอังกฤษ มีลักษณะการเขียนเหมือนคำประกาศเจตจำนง (manifesto) หรือถ้อยคำปราศรัย (speech) มากกว่าการบรรยายทั่วไป น้ำเสียงที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรมีความกระแทกกระทั้น ให้ความรู้สึกปลุกระดม ซึ่งเป็นลักษณะงานเขียนที่ผู้เขียนอยู่ในสถานะรอง (subaltern) ซึ่งผู้แปลสามารถแปลออกมาได้อย่างชัดเจน ตนจึงแนะนำให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ ลองอ่านออกเสียง แล้วจะรู้สึกถึงอารมณ์ดังกล่าว

ส่วน ภิญญพันธุ์ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ เผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า คนไทยรู้จักคนอินเดียน้อยมาก ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมอินเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมไทย ภิญญพันธุ์ เผยว่าเขาไม่เคยอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษมาก่อน แต่เมื่ออ่านฉบับแปลไทยเล่มนี้แล้ว ตนรู้สึกว่าอินเดียกลายเป็นอื่น เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมอินเดียในช่วง 100-200 ปีให้หลังมานี้ แทบไม่มีอยู่เลยในสังคมและระบบการศึกษาไทย อีกทั้ง ภิญญพันธุ์ ยังกล่าวว่า แม้จะแปลมาจากภาษาอังกฤษ แต่ภาษาที่ผู้แปลใช้กลับเป็นกลิ่นกระเทียม กลิ่นตะไคร้ ไม่ได้กลิ่นนมเนย นอกจากนี้ ตนยังรู้สึกว่าเหมือนอ่านนวนิยายของทมยันตี หรือพนมเทียน มากกว่าการอ่านหนังสือวิชาการ ด้าน วิริยะ เผยว่าตนไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แบบนักประวัติศาสตร์ แต่อ่านในมุมมองนักสังคมวิทยาการเมือง และเน้นไปที่รูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอินเดียมากกว่า พร้อมวิเคราะห์ว่ากบฎชาวนาอินเดียอยู่ตรงไหนในตำแหน่งประวัติศาสตร์ตามหลักการของมาร์กซิสต์

ตามไท บอกว่า คูหา ใช้วิธีอ่านย้อนเกร็ด (read against the grain) เพื่อนำข้อมูลมาเขียนหนังสือ กบฎชาวนา ซึ่ง ตามไท อธิบายความหมายของคำว่าอ่านย้อนเกร็ดว่า เป็นการอ่านในสิ่งที่ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะบอก และหาหลักฐานอื่นมาประกอบสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ เนื่องจากเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับอินเดียในยุคอาณานิคม ส่วนใหญ่ถูกบันทึกโดยชนชั้นปกครอง จึงต้องใช้วิธีนี้เพื่อสืบหาประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนที่อยู่ข้างล่าง (history from below) ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นวิธีเดียวกับที่นักประวัติศาสตร์ใช้ในการสืบหาข้อมูล และวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจ โดยต้องอาศัยการตีความ 2 ชั้น คือ ตีความจุดประสงค์ของผู้เขียน จากนั้นจึงตีความถึงบริบทโดบรอบที่แฝงอยู่ในงานเขียนเหล่านั้น

ภาพการเสวนาจากเฟซบุ๊ก Illuminations Editions

ตามไท กล่าวต่อไปว่า งานของคูหาเป็นงานที่ต่อยอดมาจากงานของงานกบฎชาวนารุ่นก่อนๆ แต่พยายามจะนำเสนอในมุมมองใหม่ๆ โดยเขาวิเคราะห์ว่าหากมองในมุมมองของมาร์กซิสต์ กบฎชาวนา คือ การลุกฮือแบบไร้ทิศทาง แต่คูหาพยายามแย้งว่าในความไร้ทิศทางนั้นมีรูปแบบบางอย่างอยู่ เช่น การตอบโต้ระบบชนชั้น ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจทางสังคม ด้วยการเอาสิ่งที่อยู่ข้างบนลงมาข้างล่างล่าง ดังสำนวนไทยที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” เช่น การนำชุดตำรวจไปให้นักโทษใส่ ซึ่งในมุมมองของผู้ปกครอง การกระทำนี้ดูไม่มีความหมาย แต่กลับมีความหมายในมุมมองของผู้ถูกปกครอง หากนำงานของคูหามาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบโลกในปัจจุบัน จะช่วยให้มองกระบวนการเคลื่อนไหวได้กว้างไกลกว่ามุมมองของรัฐ

ส่วน ภิญญพันธุ์ บอกว่า การเขียนงานในลักษณะที่ผู้เขียนอยู่ในสถานะรอง (subaltern) ในไทยถือว่าเป็นงานยาก เพราะการสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้นมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากระบบหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่ล้มเหลวและรวมศูนย์ ทั้งยังเลือกเก็บเฉพาะสิ่งที่คิดว่าสำคัญในสายตาของรัฐ แต่เรื่องเกี่ยวกับราษฎรหรือเรื่องทั่วไป เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร กลับไม่มีการจัดเก็บในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ยังไม่มีระบบที่เชื่อมโยงกัน หากต้องการสืบค้นเอกสารบางประเภทต้องเดินทางไปที่หอจดหมายเหตุแห่งนั้นๆ ไม่สามารถดึงข้อมูลจากระบบอินเทอร์เน็ตหรือใช้โครงข่ายส่งต่อข้อมูลที่เชื่อมโยงกันได้ แต่ไม่นานมานี้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ซึ่งมีประโยชน์มากในการสืบค้นข้อมูลภาคประชาชนที่อยู่นอกสายตารัฐ ทั้งนี้ ภิญญุพันธุ์ บอกว่าหากลดการรวมศูนย์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ จะช่วยให้ไทยมีความก้าวหน้าทางวิชาการมากขึ้น

นอกจากนี้ ภิญญพันธุ์ ยังกล่าวว่าการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ถือเป็นความหน้าและเสรีภาพทางวิชาการ พร้อมยกตัวอย่าง ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Reply1988 ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและภาพสังคมของเกาหลีใต้ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยประวัติศาสตร์หลักจากภาครัฐ คือ การเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกส์ แต่เส้นเรื่องกลับเป็นชีวิตของตัวละคร ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป แน่นอนว่า การจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ออกมาผ่านสื่อบันเทิงได้ ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้และบันทึกจากคนที่อยู่ในยุคนั้น ส่วนละครไทย ภิญญพันธุ์ เลือก บุพเพสันนิวาส ให้เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสามัญชน

ตามไท กล่าวเสริมว่า เสรีภาพทางวิชาการ คือ เงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางความคิดของผู้เรียน หลักสูตรการเรียนการสอนของไทยควรเน้นการคิดเชิงประวัติศาสตร์ (historical thinking) รวมถึงต้องสอนให้ผู้เรียนสามารถวิพากษ์และตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ได้ ด้าน วิริยะ บอกว่าหากต้องการให้ประเทศยไทยมีเสรีภาพทางวิชาการมากขึ้น ควรลดการรวมศูนย์ความรู้ และเพิ่มทางเลือกความรู้ให้มากขึ้น ไม่ใช่มีแค่ความรู้กระแสหลักเพียงอย่างเดียว

ในช่วงท้ายของการเสวนา ตามไท บอกว่า สิ่งที่สังคมไทยขาดคือการแปลหนังสือด้านสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์ ซึ่ง วิริยะ เสริมว่า สำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยในไทยควรดีพิมพ์หนังสือให้ครบทุกศาสตร์ ด้าน ภิญญพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยไทยควรตีพิมพ์หนังสือให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะหนังสือที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ซึ่งตนรู้สึกเสียดายที่คนไทยเพิ่งได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของ รณชิต คูหา หลังจากตีพิมพ์ต้นฉบับไปแล้วถึง 38 ปี