หน้าแรก แวดวงการศึกษา โควิด-19 : ทักษิณ เสนอรัฐบาลไทยให้ทดลองใช้เครื่องตรวจดีเอ็นเอ-เชื้อไวรัสที่รัฐบาลอังกฤษซื้อใช้

โควิด-19 : ทักษิณ เสนอรัฐบาลไทยให้ทดลองใช้เครื่องตรวจดีเอ็นเอ-เชื้อไวรัสที่รัฐบาลอังกฤษซื้อใช้

-- advertisement --

DNA Nudge kit

ที่มาของภาพ, Imperial College London

ทักษิณ ชินวัตร เผย กำลังเสนอกระทรวงสาธารณสุขไทยพิจารณาทดลองใช้ชุดตรวจเร็วโดยใช้สารคัดหลั่ง และเครื่องตรวจดีเอ็นเอในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่รัฐบาลอังกฤษซื้อจากบริษัทของเขา

นายทักษิณ กล่าวจากนครดูไบ ผ่านแอปสนทนาคลับเฮาส์เมื่อ 20 เม.ย. ว่า คณะทำงานของเขาอยู่ระหว่างการประสานงาน ส่งชุดทดสอบนี้ให้สำนักงานอาหารและยา (อย.) ของไทยทดสอบ เพราะเป็นเครื่องมือแพทย์ ขณะเดียวกับก็กำลังยืนขอจดทะเบียนไปที่ สำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ เช่นกัน

“กำลังเตรียมการเข้ามาทดสอบดูก่อนว่า พอใจหรือไม่ เอา เครื่องอ่านมา 10 ตัว เครื่อง cartridge มาร้อยกว่าตัว เพื่อมาทดลองควบคู่กับการตรวจ PCR lab เพื่อให้ อย.ได้เห็นว่า สิ่งนี้ได้ผลเท่ากัน 100% เราก็มานั่งดูว่าทางรัฐจะเอาอย่างไร มูลนิธิไทยคมจะบริจาคยังไง ค่อยว่ากันอีกที” นายทักษิณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ตอบคำถามของบีบีไทย

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย เมื่อ พ.ค. ปีที่แล้ว ที่บ้านพักในกรุงลอนดอน นายทักษิณผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างแดนตอบว่า “แน่นอนผมยินดีที่จะให้เครื่องมือนี้ไปเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขของไทย ไปช่วยตรวจคนไทยหาเชื้อโควิดในขณะนี้” หลังเครื่องนี้ “CE marking” หรือเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสุขภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากทางการอังกฤษ

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBCThai

คำบรรยายภาพ,

“แน่นอนผมยินดีที่จะให้เครื่องมือนี้ไปเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขของไทย ไปช่วยตรวจคนไทยหาเชื้อโควิดในขณะนี้”

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีหลายตำแหน่งในรัฐบาลทักษิณ กล่าวเสริมในเวทีเดียวกันว่า ตัวเขาได้ติดต่อไปที่ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. สาธารณสุข แล้ว และได้รับการตอบรับ โดยศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ ทูมาซู ผู้ประดิษฐ์เครื่องมือนี้จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน และทีมงานจะเดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 25 เม.ย. ต้องกักตัว 7 วัน ก่อนเดินทางไปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทดสอบมาตรฐานของผลการตรวจหาเชื้อโควิดจาก DnaNudge เทียบกับ การตรวจแบบ PCR ในห้องปฏิบัติการ

“หากความแม่นยำตรงกัน สเต็ปต่อไปคือ จะเดินหน้าส่งเสริมให้มีการใช้ DnaNudge ในการตรวจคนไทยได้อย่างไร” นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าว

ส่วนนายทักษิณ เสริมว่า “ขอดูปฏิกริยาก่อนว่าเขาคิดอย่างไร ซื้อหรือบริจาค”

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้เครื่องมือนี้ทำอะไร

ตั้งแต่สิงหาคม ปีที่แล้ว สหราชอาณาจักรเริ่มใช้ชุดตรวจเร็วโดยใช้สารคัดหลั่ง (rapid swab test) และเครื่องตรวจดีเอ็นเอ ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะรู้ผลตรวจภายใน 90 นาที

นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักร กล่าวว่าการตรวจสารคัดหลั่งและตรวจดีเอ็นเอซึ่งจะรู้ผลอย่างรวดเร็ว จะช่วยแยกแยะผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ออกจากโรคประจำฤดูกาลอื่น ๆ และจะ “เป็นประโยชน์อย่างมาก” ในช่วงฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา

ในปัจจุบันการตรวจส่วนใหญ่หรือราว 3 ใน 4 ที่ทำอยู่ในสหราชอาณาจักร จะรู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจะรู้ผลภายในสองวัน

รัฐบาลจัดส่งชุดตรวจเร็วที่ใช้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งแบบใหม่ที่ชื่อ LamPORE เกือบ 500,000 ชุด ไปยังสถานพยาบาลและห้องแลปต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อ และเพิ่มจำนวนอีกหลายล้านชุดในลำดับถัดไปในช่วงปลายปี 2020

และนับตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว รัฐบาลได้เพิ่มเครื่องตรวจดีเอ็นเอของ DnaNudge ซึ่งมีใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาลในเครือสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS 8 แห่ง ไปยังโรงพยาบาลในเครือที่อื่น ๆ อีก

เว็บไซต์รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุเมื่อ ก.ย. ปีที่แล้วว่า เตรียมนำเครื่องตรวจของ DnaNudge อีก 5,000 เครื่อง ไปใช้ในโรงพยาบาลในเครือสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ ทั่วสหราชอาณาจักร โดยเครื่องตรวจดีเอ็นเอดังกล่าวจะช่วยให้สามารถตรวจหาเชื้อเพิ่มได้อีก 5.8 ล้านครั้ง

ขณะที่เว็บไซต์ของอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลได้สั่งซื้อชุดตรวจ DnaNudge อีก 5.8 ล้านชุด มูลค่า 161 ล้านปอนด์

ที่มาของภาพ, DNAnudge

คำบรรยายภาพ,

อุปกรณ์ตรวจดีเอ็นเอที่ใช้ตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ได้

ประสิทธิภาพของเครื่องมือนี้

ผลการศึกษาของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ที่เผยแพร่เมื่อ ก.ย. ปีที่แล้ว ระบุว่า อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่เป็นตลับนี้ ให้ผลที่ใกล้เคียงกับการตรวจหาเชื้อในปัจจุบัน

ทุกคนสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจโควิดแบบรวดเร็ว ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท DnaNudge นี้ได้ เพียงแค่ต้องรู้วิธีในการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในโพรงจมูกและลำคอของตัวเอง

ไม้พันสำลีที่เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจะถูกนำมาเสียบในกล่องสีน้ำเงินที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยในกล่องนั้นจะมีสารเคมีที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อบรรจุอยู่

จากนั้นกล่องนี้จะถูกนำไปใส่เครื่องที่มีขนาดเท่ากับกล่องเก็บรองเท้า เพื่อการวิเคราะห์

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต ไมโครบ (Lancet Microbe) ได้เปรียบเทียบผลการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เก็บมาจาก 386 คน ที่นำไปตรวจด้วยอุปกรณ์ของ DnaNudge และห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานทั่วไป

ศ.เกรแฮม คุก จาก อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า “ผลการตรวจใกล้เคียงกันมาก สร้างความมั่นใจในการนำเทคโนโลยีใหม่นี้เข้ามาใช้งาน”

“การตรวจจำนวนมากต้องแลกกันระหว่างความเร็วกับความแม่นยำ แต่การตรวจแบบนี้มีทั้งความเร็วและความแม่นยำ”

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ระบุว่า คนไข้ไม่มีเชื้อไวรัสนี้ ผลการตรวจด้วยอุปกรณ์ตรวจแบบรวดเร็วก็ให้ผลเช่นเดียวกัน แต่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่พบว่าคนไข้ติดเชื้อ ผลการตรวจด้วยอุปกรณ์นี้ให้ผลเดียวกัน 94%

-- advertisement --