-- advertisement --

    การศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กพิเศษหรือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือออทิสติก ถือเป็นอีกกลุ่มเยาวชนที่ต้องเพิ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านโอกาสในการเข้าถึง รูปแบบการพัฒนาศักยภาพ ด้วยการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง ซึ่งโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูลเป็น 1 ใน 9 แห่งของโรงเรียนการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ที่ได้รับการฝึกอบรมครั้งนี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จังหวัดปทุมธานี

โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้ให้แก่ครูผู้สอนได้นำความรู้ด้านโค้ดดิ้งทั้งแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged Coding) และการใช้คอมพิวเตอร์ด้วยบอร์ด KidBright มาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือออทิสติก โดยเฉพาะการใช้บอร์ด KidBright เป็นเครื่องมือในสร้างสื่อการเรียนการสอนและการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียนกลุ่มนี้ ตลอดจนส่งเสริมให้นักเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนโค้ดดิ้ง สามารถเรียนรู้การเขียนโค้ดคำสั่งเพื่อสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลและการสร้างสมาธิให้แก่นักเรียนกลุ่มนี้ ถูกจัดโดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และยกระดับศักยภาพของเด็กและเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

‘ภาษาโค้ดดิ้ง’ (Coding) ภาษาโค้ดดิ้งหมายถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่การเรียนการสอนวิชาโค้ดดิ้งนั้นมีลำดับขั้นตอนเพื่อจุดมุ่งหมายคือฝึกให้เด็กมีกระบวนการคิด คิดอย่างมีตรรกะ เป็นเหตุและผล และเป็นขั้นเป็นตอน  คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมดั่งกล่าวเคยให้ความหมายไว้ ผ่านสำนักข่าวเดอะแสตนดาร์ดว่าที่ผ่านมาเน้นผลักดันการสอนโค้ดดิ้งให้กับเด็กชั้นประถมศึกษา โดยใช้วิธีการ Unplugged Coding คือยังไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ยกตัวอย่างเช่น เลโก้ การที่เด็กจะเล่นเลโก้ได้เด็กต้องวางแผน ซึ่งเป็นทักษะเริ่มต้น รู้จักวางแผนอย่างเป็นระบบ รู้จักคิดเป็นตรรกะ และรู้ลำดับการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน คือทักษะที่เด็กจะได้จากการเรียนด้วยการเล่นโค้ดดิ้ง   Unplugged Coding คือการเตรียมตัวเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพื่อให้ก้าวสู่โลกดิจิทัลในโอกาสต่อไปที่จะมีความสลับซับซ้อน มีความยาก มีการแปลจากความคิดไปเป็นภาษา ซึ่ง Unplugged Coding นี้จะสอนเด็กคิดเป็นระบบเพื่ออนาคต ที่เขาจะไปใช้เครื่อง จะไปใช้หุ่นยนต์ให้ทำสิ่งต่างๆ ต่อไป ก่อนจะใช้เครื่องต้องมีพื้นฐานตรงนี้ก่อน

นี่อาจเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มเด็กพิเศษ ในโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล ที่จะเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้แบบใหม่ที่ท้าทายทั้งครูและนักเรียน ที่จะได้เตรียมความพร้อมสู่อนาคต ที่โลกของดิจิตอลกำลังมีบทบาทสำคัญทั้งรวดเร็ว รุนแรงปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ  ก้าวที่สำคัญคือปาฎิหารริย์ทางการเรียนรู้ที่โรงเรียนแห่งนี้เชื่อในศักยภาพของนักเรียนกว่า 300 คนในโรงเรียนจะต้องพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคใหม่อย่างเท่าเทียม

/////

แสดงความคิดเห็น

-- advertisement --