-- advertisement --

 จุฬาฯผ่า ความจริง  ฝุ่นพิษ  PM2.5

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติฝุ่นของเมืองไทย มีบทความน่าสนใจที่ทำให้เข้าใจในเรื่องนี้ได้ชัดเจนมากขึ้นทั้งรับมือ-ป้องกันได้อย่างถูกต้อง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ธวัช งามศรีตระกูล และ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ระบุ

“จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานในกทม. ช่วงต้นปีนี้ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอันเนื่องมาจากผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่อทัศนวิสัยอย่างเห็นได้ชัด

ประกอบกับการเข้าถึงข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากหน่วยงานต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลโดยสื่อต่างๆ ทั้งสื่อหลัก และสื่อออนไลน์ ที่ปรับรูปแบบการสื่อสารให้ง่ายต่อการนำเสนอ แต่อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนผู้รับข้อมูลซึ่งอ่านแต่วลีที่ใช้พาดหัวข่าว ทำให้เกิดความตื่นกลัวขึ้นในกลุ่มประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่เสพสื่อ ซึ่งมีความหลากหลายมากในช่วงเวลาดังกล่าว

จากค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่ตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ ผู้เขียนได้นำมาคำนวณเป็นค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (สถานีวังทองหลาง และสถานีพญาไท) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยค่าจะเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงต.ค.– พ.ย. และเมื่อผนวกกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี (ม.ค.– ก.พ.) คือสภาพอากาศนิ่ง จึงเป็นผลให้มีการสะสมตัวของฝุ่นละอองขึ้น (อ่านเพิ่มเติมเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ .)

จากการตรวจติดตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศ โดยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วงก.ค.61 ถึงปัจจุบัน พบว่า ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยรายเดือนของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่ามีรูปแบบที่เหมือนกัน นั่นหมายความว่า ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนกำลังกลับมาเยือน กทม. อีกครั้ง

การเพิ่มค่า PM2.5 ในการประเมินดัชนีคุณภาพอากาศของไทย
ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารกับสังคมเกี่ยวกับคุณภาพอากาศที่ง่ายต่อความเข้าใจ ซึ่งประเทศไทยได้นำค่าดังกล่าวมาใช้รายงานสภาพคุณภาพอากาศเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ไม่มีการนำค่าความเข้มข้นของ PM2.5 มาคำนวณร่วมด้วย (ในบทความ “เมื่อ PM2.5 กับ AQI สูง แล้วจะหายใจได้ไหม?” ()) จนกระทั่งวันที่ 1 ต.ค.61 กรมควบคุมมลพิษได้ประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งเพิ่มการคำนวณค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ไว้ด้วย และปรับช่วงค่าดัชนีคุณภาพอากาศ

ระหว่างที่เกิดสถานการณ์ PM2.5 ขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการนำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กหลากหลายแบรนด์ออกมาวางจำหน่าย ประกอบกับกระแสของ Internet of Thing หรือ IoT ที่กำลังเป็นที่จับตามองในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงราคาของเครื่องที่ไม่สูงมาก ทำให้ได้รับความสนใจจากประชาชน เป็นจำนวนมาก


รศ.ดร.ศิริมา

แต่ที่ยังเป็นข้อกังขาในแวดวงนักวิชาการในการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ คือ ค่าที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือนี้ถูกต้องแม่นยำมากเพียงใด มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัด PM2.5 แบบพกพาอาศัยหลักการกระเจิง ของแสง (Light scattering) เมื่ออากาศที่มีฝุ่นละอองผ่านเข้าไปในเครื่องกระทบกับแสงที่ถูกยิงออกมาจากเซนเซอร์จะเกิดการหักเหไปกระทบกับไดโอดและจะแปลงเป็นค่าทางไฟฟ้า ซึ่งจะถูกคำนวณเป็นค่าความเข้มข้นของฝุ่น ณ เวลานั้นๆ

ในขณะที่การตรวจวัด PM2.5 ในบรรยากาศตามมาตรฐาน ใช้วิธีกราวิเมตริก (Gravimetric) ซึ่งเป็นการวัดค่าฝุ่นละอองโดยดูดอากาศในบรรยากาศด้วยอัตราไหลคงที่ผ่านแผ่นกระดาษกรองลอดช่วงเวลาการเก็บตัวอย่าง (24 ชั่วโมง) แล้วนำแผ่นกรองมาชั่งน้ำหนัก (หลังอบกระดาษกรอง เพื่อไล่ความชื้นแล้ว) เพื่อหามวลของฝุ่นละออง และนำมาหาค่าเฉลี่ย 24 ชม. ซึ่งค่าที่ตรวจวัดได้จะอยู่ในหน่วยของน้ำหนักฝุ่นละอองต่อปริมาตรอากาศ เช่น ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เมื่อนำเครื่องมือตรวจวัดทั้ง 2 ชนิดมาเปรียบเทียบกันพบว่ามีข้อดีข้อเสีย

ระยะเวลาในการตรวจวัด พบว่าวิธีกราวิเมตริก (Gravimetric) ใช้เวลานานเนื่องจากวิธีมาตรฐานจะต้องเดินเครื่องเก็บตัวอย่างเป็นระยะเวลา 24 ชม. ขณะที่วิธีเซนเซอร์ (Light Scattering) สามารถรายงานผลได้ทันที (real-time)

ความถูกต้องของผลการตรวจวัด วิธีกราวิเมตริก มีความแม่นยำสูงเนื่องจากตัวอย่างที่เก็บได้มีการกำจัดความชื้นออกซึ่งมีผลต่อความถูกต้องของผลการตรวจวัด และเป็นวิธีมาตรฐานตามกฎหมายกำหนด ขณะที่วิธีเซนเซอร์ มีความแม่นยำลดลงเมื่อมีความชื้นสูงเนื่องจากเซนเซอร์ตรวจจับความชื้นเป็นอนุภาค PM2.5

เรื่องราคา วิธีกราวิเมตริก อุปกรณ์ตรวจวัดมีราคาแพง ขณะวิธี เซนเซอร์อุปกรณ์ตรวจวัดมีราคาที่หลากหลาย

ประชาชนควรทำอย่างไร?
การปฏิบัติตนในช่วงที่มี PM2.5 เกินมาตรฐานนั้น ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญคือ ทำความเข้าใจในรูปแบบของข้อมูลคุณภาพอากาศที่มีการรายงานผลว่าเป็นข้อมูลแบบตามเวลาจริง (Real-Time) หรือเป็นข้อมูลที่มีการรายงานผลตามมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานรัฐ

เนื่องจากมีการนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศใน social network อีกทั้งในกรณีของดัชนีคุณภาพอากาศหรือ Air quality index (AQI) ที่มีการใช้งานในหลายประเทศ จะมีช่วงค่าในการคำนวณและแสดงผลที่แตกต่างกัน ถ้าหากขาดความเข้าใจในมาตรฐานหรือเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการนำเสนอผลการตรวจติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแล้ว ก็จะทำให้การแปลความหมายของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

ในขณะเดียวกัน ประชาชนควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวผ่านสื่อที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ระบบตรวจติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพอากาศ ซึ่งถ้าหากมีข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการตรวจวัด การรายงานผล ควรสอบถามไปยังหน่วยงานที่หน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของรัฐ เช่น กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรการศึกษา

กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมนอกอาคาร หรืออยู่กลางแจ้งเมื่อเกิดสถานการณ์หมอกฝุ่นควัน ควรเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ PM2.5 เกินมาตรฐานนี้ คือ ใช้หน้ากากชนิด N95 หรือหน้ากากป้องกันที่ระบุขนาดช่องว่างน้อยกว่า 0.3 ไมครอน ซึ่งสามารถช่วยลด PM2.5 ได้

หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรรับมืออย่างไรกับสถานการณ์ PM2.5
ในการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ PM2.5 ที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ ปี จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ผู้บังคับใช้ (Implementor) ควรเตรียมประกาศใช้มาตรการเร่งด่วนในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

หน่วยงานการศึกษาควรร่วมมือกันศึกษาวิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางในการบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้กับผู้กำหนดนโยบาย รวมไปถึงการให้ความรู้กับสื่อต่างๆทั้งสื่อหลัก และสื่อออนไลน์ เรื่องการนำข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศไปใช้ในการนำเสนอสู่สาธารณะให้มีความถูกต้องชัดเจน”

-- advertisement --