-- advertisement --

 จุฬาฯ เปิด หัวใจ ฟังดนตรี เปิด พื้นที่การเรียนรู้

การนั่งฟังดนตรีคลาสสิคเพราะๆ ในสวนสวยๆ เป็นกิจกรรมที่หลายคนชื่นชอบ แต่สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าดนตรีคลาสสิกนั้นเข้าถึงยาก เป็นศาสตร์ของดนตรีชั้นสูงที่ต้องปีนบันไดฟัง หรือไม่รู้จะหาฟังได้จากที่ไหน

ในช่วงบรรยากาศแห่งความปีติยินดีของชาวไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสประสบการณ์การแสดงดนตรีสด ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ

“ก่อนหน้านี้มูลนิธิบางกอกซิมโฟนี่ออเคสตร้า ได้ใช้อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นสถานที่จัดการแสดงดนตรีในสวนเมื่อช่วงปลายปี 61 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับจากคนดูค่อนข้างดี และมีเสียงเรียกร้องที่จะให้จัดอีก เป็นปัจจัยที่หนึ่งที่ทำให้เราเลือกที่จะมาจัดที่นี่

ข้อที่สองคือ เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กลางกรุงเทพฯ ที่จุฬาฯ สร้างขึ้น สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม ซึ่งการแสดงดนตรีในสวนก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้น”

ศิโรวุฒิ ศรีนิเทศวาทิน ผู้จัดการวงซิมโฟนีออเคสตราแห่งจุฬาฯ ผู้ควบคุมวงจุฬาฯ เชมเบอร์ และรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักการจัดงาน ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดแสดงดนตรีในครั้งนี้

นอกจากเรื่องของสถานที่แล้ว วงดนตรีซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของกิจกรรมนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสากลร่วมสมัยจากวง CU Band หรือดนตรีไทยไพเราะ จากชมรมดนตรีไทยสโมสร นิสิตจุฬาฯ และที่ขาดไม่ได้คือวงดนตรีคลาสสิกโดยแต่ละวงก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่ากับประชาคมจุฬาฯ ในหลากหลายแง่มุม

วงซิมโฟนีออเคสตราแห่งจุฬาฯ นั้น จุดประสงค์หลักคือให้การศึกษากับผู้ที่เข้ามาร่วมเล่น โดยเปิดโอกาสให้นิสิตเอกดนตรีจากทั้งคณะครุศาสตร์ เอกดนตรีและคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ เข้ามาเป็นสมาชิกซึ่งจะเล่นเพลงที่เรียกว่า Serious Musicคือเป็นเพลงของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียง เล่นค่อนข้างยากและมีความหลากหลายนอกเหนือไปจากบทเรียน โดยมีอาจารย์คอยเป็นไกด์ให้กับน้อง ๆ นิสิต ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

ในส่วนของวงจุฬาฯ เชมเบอร์นั้นจะมีขนาดของวงที่เล็กกว่าและมีจุดประสงค์ที่ต่างไป กล่าวคือ ตั้งขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เช่น งานเลี้ยงรับรองต่างๆ หรือช่วยเหลือกิจกรรมสังคมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา และสภากาชาดไทย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นการอุดช่องว่างในระหว่างที่วงซิมโฟนีออเคสตราแห่งจุฬาฯ ไม่มีการแสดง ทำให้นิสิตได้มีโอกาสฝึกซ้อมตลอดทั้งปี

ไม่เพียงแต่วงดนตรีคลาสสิกของจุฬาฯ เท่านั้น ยังมีวงดุริยางค์ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งมีศิษย์เก่า จุฬาฯ หลายคนเข้าไปทำงาน ถือเป็นพันธมิตรทางดนตรีที่แนบแน่นและยาวนานได้ร่วมจัดการแสดงในครั้งนี้ด้วย

สำหรับใครที่ไม่ถนัดกับการฟังเพลงคลาสสิก ศิโรวุฒิเสริมว่า “วงจุฬาฯ เชมเบอร์นั้นเมื่อไปเล่นในสวนเราก็อยาก Educateคนทั่วไปว่าดนตรีคลาสสิกก็สามารถเล่นเพลงที่เป็นเพลงป๊อปทั่วไปที่ใครต่อใครสามารถร้องตามได้ด้วย โดยจะเน้นเล่นเพลงที่มีความหมายดี ๆ และคุ้นหูทุกคน เช่น เพลงที่แห่งนี้ เพลงแผ่นดินทอง ฯลฯ หรือแม้แต่เพลงประกอบละคร เรื่อง สายโลหิต ญาติกา รัตนโกสินทร์ ฯลฯ ที่มีเนื้อส่งเสริมความรักชาติเข้ากับบรรยากาศในช่วงนี้

อยากให้ทุกท่านได้เข้ามาร่วมกิจกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่กำลังจะจัดขึ้นในอนาคต เพราะสิ่งที่จุฬาฯ ทำขึ้นในครั้งนี้เพื่อตอบแทนให้กับสังคม และเปิดพื้นที่ให้กับนิสิตได้แสดงผลงาน ดังนั้นกำลังใจที่มาจากคนดูแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีค่าทำให้พวกเค้ามีกำลังใจที่จะทำการแสดงต่อไป” ศิโรวุฒิ กล่าวเชิญชวน

ทั้งนี้ ได้จัดแสดงในทุกวันอาทิตย์ เวลา 18.00 – 20.00 น. เริ่มตั้งแต่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 23 มิ.ย.นี้ โดยส่งท้ายอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย.นี้ พบกับวงซิมโฟนีออเคสตราแห่งจุฬาฯ

ศูนย์สื่อสารองค์กรจุฬาฯ

-- advertisement --