-- advertisement --

 มทร.ธัญบุรี คิดค้นต้นแบบ ชุดยก-เคลื่อนผู้ป่วยบนเพดาน

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการดูแลผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องนอนติดเตียง ที่เป็นความยากลำบากของผู้ดูแลในการทำธุระต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วย คือการยก การเคลื่อนย้าย

จึงเกิด “ชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดาน” (Ceiling Lift) ด้วยมันสมองและสองมือ ผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

นำทีมคิดค้นพัฒนาโดย รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ร่วมด้วยนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ประกอบด้วย นายทศพล ชูชาติ นาย ศราวุธ ฤทธิ์พันธุ์ม่วง นายชนัญญู สุวรรณมีสระ และนายชาญชัย สุดมี

รศ.ดร.เดชฤทธิ์เล่าว่า จากปัญหาของผู้ดูแลในการยกตัวผู้ป่วยเพื่อทำธุระต่างๆ ให้กับผู้ป่วย ตลอดจนพาไปเข้าห้องน้ำ รวมทั้งสถานสงเคราะห์ต่างๆ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลายเตียงพร้อมๆ กัน จะมีปัญหาอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากไม่สะดวกในการยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั่นเอง

ดังนั้น จึงออกแบบชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดานต้นแบบขึ้นมา โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกยึดติดที่คานหรือบนเพดาน โดยจะมีจุดแยก (Junction) แบบวงกลมและแบบสับราง

ทั้งนี้ จะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.ส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ (Hardware) ประกอบด้วย โครงสร้างราง ชุดแยก มอเตอร์เคลื่อนที่ มอเตอร์สับรางแบบวงกลม มอเตอร์สับรางแบบแยก เซ็นเซอร์ และอื่นๆ

2.ส่วนที่เป็นระบบควบคุมจะมีไมโครคอนโทรลเลอร์ เพาเวอร์ ไดร์มอเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3.ส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ จะใช้ภาษาซี ในการเขียนคำสั่งการทำงาน

นายทศพล ชูชาติ หนึ่งในทีมงานนักศึกษากล่าวถึงหลักการทำงานของชุดยกฯ ดังกล่าวว่า ะมี 5 สถานีคือ สถานีที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากสถานีที่ 1 ไป สถานีที่ 5 ก็สามารถเลือกกดสถานีที่จะไปได้

ส่วนถ้าต้องการกดเลือกยกผู้ป่วยจากสถานีที่ 5 ไปสถานีที่ 2 ก็สามารถเลือกกดได้ โดยไปได้ทุกสถานี โดยเฉพาะสถานีที่ 5 อาจเป็นสถานีห้องน้ำ เราสามารถกดเลือกให้ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังห้องน้ำ เมื่อทำธุระเสร็จก็สามารถเลือกกดให้ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับมายังเตียงนอนได้

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้ามาดูชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดานต้นแบบ ได้ที่สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0-2549-4746

-- advertisement --