-- advertisement --

 มทร.ศรีวิชัยต่อยอดเชิงพาณิชย์ บรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วยๆ

คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”

กล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนไทยในชนบท ทั่วทุกภาคของไทย ทุกส่วนสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเป็นสินค้าได้

อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นิยมปลูกกล้วย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์วิถีชีวิต จึงส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลผลิตจากต้นกล้วยเป็นสินค้าประเภทต่างๆ ที่มีกล้วยเป็นส่วนประกอบ สามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

แต่เนื่องจากสินค้าที่แปรรูปจากต้นกล้วยแม้จะมีคุณภาพดี แต่ยังขาดการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และการสร้างความน่าสนใจ จึงเกิดโครงการสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์จากกล้วย เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนให้ความสำคัญในการแปรรูปกล้วยเป็นสินค้า รวมทั้งให้ความรู้ด้านการตลาด การจัดการพื้นฐานด้านธุรกิจ เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริม และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชุมชน

ผศ.ดร ยุพาภรณ์ อุไรรัตน์ ผศ.ธันยาภรณ์ ดำจุติ และผศ.สุริยา นิตย์มี อาจารย์สาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มทร.ศรีวิชัย เผยว่า การร่วมบันทึกข้อตกลงระหว่าง มทร.ศรีวิชัยและชุมชนควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา บูรณาการร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ ในโครงการบริการวิชาการแก่สังคม

การทำบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วย” สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด และเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วย โดยลงพื้นที่ให้บริการวิชาการด้านการตลาดและด้านการจัดการ ลงชุมชนพูดคุยกับสมาชิกในชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล สำรวจความต้องการเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด สร้างคู่มือการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นกล้วย

นอกจากนี้ “การทำบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วย” สู่เชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างอาชีพและรายได้เสริมจากต้นกล้วยให้กับชาวบ้าน เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและขยายฐานการตลาด โดยจำหน่ายหมวกปีก ราคา 280 บาท ที่ดึงนิ้วล๊อค ราคา 20 บาท ตระกร้าใส่ปากกา ราคา 100 บาท และกระเป๋า ราคา 500 บาท พร้อมจัดทำคู่มือการเรียนรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ มีบรรจุภัณฑ์จากต้นกล้วยพร้อมจำหน่าย มีขั้นตอนการผลิตง่าย ๆ ทำได้ตัวเองหลังจากที่ได้รับความรู้จากการบริการวิชาการ

ขั้นตอนแรกจะนำเชือกกล้วยที่ตากแห้งมาฉีดน้ำ แล้วรีดกับเครื่องรีดเชือกกล้วย ขั้นตอนที่สองนำเชือกกล้วยที่รีดแล้วมาขึ้นรูปกับแบบที่ต้องการ ขั้นตอนที่สามเมื่อจักสานเสร็จเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย ขั้นตอนที่สี่พ่นสารเคลือบป้องกันเชื้อรา จากนั้นจะได้บรรจุภัณฑ์ที่มีรูปแบบสวยงามพร้อมวางจำหน่าย

สำหรับการอบรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากต้นกล้วย จะมีอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านวิชาการและปฎิบัติให้กลุ่มชุมชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในพื้นที่

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ยุพาภรณ์ 074-317-176

ปิยวรรณ มากสง นักประชาสัมพันธ์ มทร.ศรีวิชัย

-- advertisement --