-- advertisement --

 มทร.ศรีวิชัยเพิ่มมูลค่าเห็ดแครงแปรรูปบ้านนาไม้ไผ่

ด้วยสมองและสองมือ
/ e-mail:

เห็ดแครง หรือเห็ดตีนตุ๊กแก สามารถขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และงอกได้ตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนจะพบเห็ดแครงงอกตามวัสดุหลายชนิด โดยเฉพาะบนท่อนไม้ยางพาราจากต้นยางพาราที่ตัดโค่นเป็นจำนวนมาก

เห็ดแครงมีคุณค่าโภชนาการสูง มีสารที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อไวรัส และยับยั้งเซลล์มะเร็ง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
จึงนิยมแปรรูปเป็นอาหารเพื่อบริโภค ในภาคใต้มีการแปรรูปเห็ดแครงเป็นอาหารพื้นบ้าน

ปัจจุบันมีการพัฒนาสู่ตลาดเครื่องสำอาง ดังนั้น ตลาดจึงมีความต้องการสูง มีการคิดวิธีเพาะเพื่อให้มีบริโภคตลอดปี โดยมีจำหน่าย 2 รูปแบบคือ เห็ดสด และเห็ดแห้ง ราคาจำหน่ายเห็ดสดกิโลกรัมละ 80 – 150 บาท เห็ดแห้งกิโลกรัมละ 400 – 500 บาท จึงนับเป็นเห็ดที่มีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์ที่น่าส่งเสริมขยายการผลิตในเชิงการค้าให้มากขึ้น

กลุ่มเห็ดแครง บ้านนาไม้ไผ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีแนวโน้มการตลาดที่ดี จึงมีการจดทะเบียนผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบกลุ่ม เป็นสินค้า OTOP ปัจจุบันมีการผลิตก้อนเชื้อเห็ด และเห็ดสด ได้แก่ เห็ดนางฟ้า เห็ดแครง และเห็ดหูหนู มีผลผลิตจำนวนมาก จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดแครงแปรรูปอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงประสบปัญหา เรื่องอายุจัดเก็บของผลิตภัณฑ์ ทำให้การกระจายสินค้าไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง

อ.สุธิกาญจน์ แก้วคงบุญ อ.สุภาพร ไชยรัตน์ อ.สุพัตรา คำแหง และอ.สาวิตรี มุณีศรี คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตนครศรีธรรมราช มีแนวคิดสร้างมูลค่า เพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยนำเห็ดแครงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ทำน้ำพริกเผาเห็ดแครง ทำน้ำพริกนรกเห็ดแครง รวมถึงน้ำพริกต่างๆ ที่มีเห็ดแครงเป็นส่วนผสม

อ.สุธิกาญจน์กล่าวว่า การนำความรู้ด้านเทคโนโลยีการจัดการมาใช้ในชุมชน สามารถยืดอายุการจัดเก็บผลิตภัณฑ์เห็ดแครงแปรรูป สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับผู้ผลิต และชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดย มทร.ศรีวิชัย พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และตราสินค้า ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค จึงนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้ผลิต กลุ่มเห็ดแครงบ้านนาไม้ไผ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

อีกทั้งยังสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม สามารถแข่งขันในตลาด AEC ได้ในอนาคต ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยสอดคล้องกับบริบทของชุมชน ยังคงเอกลักษณ์ชุมชน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อ.สุธิกาญจน์ โทรศัพท์ 089-822-4140

-- advertisement --