-- advertisement --

 มมส ทูลเกล้าฯถวายดุษฎีบัณฑิต  เจ้าชายอากิชิโน

ทรงรับการถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 เวลา 10.15 น. เจ้าชายอากิชิโนแห่งประเทศญี่ปุ่น พระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เสด็จฯไปยังอาคารเฉลิม-พระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายปัญญา ถนอมรอด นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะผู้บริหาร นิสิต และนักเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เฝ้ารับเสด็จฯ

ในการนี้ ทรงรับการถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีววิทยา ซึ่งสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ขอพระราชทานถวายแด่เจ้าชายอากิชิโนแห่งประเทศญี่ปุ่น ด้วยพระอัจฉริยภาพ ที่ทรงศึกษาวิจัยทางด้านชีววิทยา ด้วยพระวิริยะ และอุตสาหะ ทรงมีผลงานพระนิพนธ์เผยแพร่ ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ทรงเปี่ยมด้วยพระเกียรติคุณเห็นเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก

เจ้าชายอากิชิโน ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านสัตววิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ บริติชมิวเซียม สหราชอาณาจักร และทรงได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านปักษีวิทยา จากมหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาชั้นสูงแห่งคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ ของสถาบันปักษีวิทยายามาชินา ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ ทรงดำรงตำแหน่งประธานสมาคมสวนสัตว์และสัตว์น้ำ ประธานกิตติมศักดิ์ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล และทรงเป็นสมาชิกสมาคมนักมีนวิทยาของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนเป็นรองประธานกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ของประเทศไทย

ทรงมีผลงานดีเด่นทางวิชาการด้านการศึกษา และการวิจัยด้านอนุกรมวิธาน และการพัฒนาทางสัณฐานวิทยาของปลาในวงศ์ปลาเนื้ออ่อนและวงศ์ปลาสวาย โดยเสด็จมายังประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์จำนวนหลายครั้งเพื่อทรงเก็บและรวบรวมตัวอย่างปลาไปศึกษาวิจัยด้วยพระองค์เอง จึงมีผลงานพระนิพนธ์ด้านวิจัยที่พิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์ถึงพระปรีชา-สามารถในด้านมีนวิทยา นอกจากนั้นยังทรงสนพระหฤทัยใฝ่ศึกษาในเรื่องสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ไก่ป่า ไก่เลี้ยง และไก่ฟ้า ตลอดจนมุ่งมั่นศึกษาพหุสัมพันธ์คนกับไก่จนสามารถตอบปัญหาว่า “ทำไมและอย่างไรไก่ป่า จึงวิวัฒนาการเป็นไก่บ้าน” สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีววิทยาเพื่อเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน

-- advertisement --