-- advertisement --

 มรภ.สงขลาตามรอยพระราชดำริ  พอเพียง ห้องเรียนเกษตรปลอดสารพิษเพื่อชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้จัดห้องเรียนเกษตรเพื่อชุมชน โดยทำแปลงพืชผักปลอดสารพิษ ผลงานของอาจารย์และนักศึกษาในคณะ

นักศึกษาได้เรียนรู้ทฤษฎีจากสถานีปฏิบัติการ โดยมีอาจารย์ในศาสตร์แต่ละแขนงคอยถ่ายทอดวิธีการและให้คำแนะนำ กระทั่งกลายเป็นพื้นที่บริการวิชาการด้านเกษตรให้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

อ.ธัชวีร์ ขวัญแก้ว โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ระบุปลูกพืชผักปลอดสารพิษไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะเติบโตงอกงามได้ นักศึกษาต้องเรียนรู้และปฏิบัติ โดยเน้นให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติและเรียนรู้กระบวนการปลูกพืชไร่เศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง มันญี่ปุ่น

สถานีทดลองแปลงสาธิต มี ดร.ศุภัครชา อภิรติกร อาจารย์ทางด้านสรีรวิทยาพืชยืนต้น แนะนำการปลูกฝรั่ง การปลูกมะนาววงบ่อคู่พริก

ขณะสถานีปฏิบัติการพืชสวนมี ผศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม อาจารย์สาขาวิชาพืชสวน ให้ความรู้วิธีปลูกเมล่อนและแตงโมอย่างละเอียด ตั้งแต่คัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลและเก็บเกี่ยว ให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะและพัฒนาความรู้ตามสาขาวิชา

“การดูแลรักษาเหมือนพืชไร่ที่ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว ใช้เมล็ดพืชปลูกโดยตรง ดูแลรักษาไม่ยาก อย่างข้าวโพดใช้เวลาประมาณ 70-75 วัน ไหมจะเปลี่ยนเป็นสีดำ สามารถเก็บเกี่ยวได้ หากต้องการปลูกเพื่อจำหน่ายก็ต้องหาตลาดรองรับ และคำนวณช่วงเวลาเก็บเกี่ยวให้พอดี

เท่าที่ทราบมาเลเซียสนใจข้าวโพดไทยมาก แต่ต้องมีผลผลิตที่เพียงพอและต่อเนื่อง หรืออาจนำไปแปรรูปเป็นน้ำข้าวโพดซึ่งกำลังนิยมอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ ถั่วลิสง มันญี่ปุ่น เป็นพืชที่อยากแนะนำให้เกษตรกรทดลองปลูก เพราะปลูกง่าย ผลผลิตคุณภาพดี ดูแลรักษาง่าย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาศัตรูพืช อยากส่งเสริมให้ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ หรืออีกแบบคือเกษตรปลอดภัย ใช้ปุ๋ยเคมีได้แต่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง”อ.ธัชวีร์ว่า

ด้าน ดร.ศุภัครชา ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาพืชยืนต้น ระบุพืชอีกชนิดที่น่าสนใจคือ มะเขือม่วง ซึ่งค่อนข้างทนต่อโรคและแมลง ใช้เวลา 3-4 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว ทั้งยังเป็นที่นิยมของตลาด เนื่องจากสีสันสวยงาม หรืออาจปลูกมะนาวร่วมกับพริก เพื่อเสริมรายได้ขณะมะนาวยังไม่ออกผล ซึ่งมะนาวที่นี่มี 3 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตแตกต่างกัน บางชนิดลูกเล็กแต่เปรี้ยว เหมาะสำหรับนำไปทำอาหารจำพวกลาบ

ขณะที่ ผศ.ดร.คริษฐ์สพล อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชสวน กล่าวถึงงานวิจัยทดสอบพันธุ์เมล่อนว่า ปลูกใน 2 รูปแบบ คือ ที่โล่งกับโรงเรือน เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพของสายพันธุ์ สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นเด็ดแขนงทิ้ง และให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีรสชาติหวานอร่อย

นอกจากนั้น ยังปลูกมะเขือเทศเชอรี่ โดยทดลองใช้ฮอร์โมนเพื่อยืดช่อดอกและขยายขนาดผล นอกจากจะได้ผลผลิตตามต้องการแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนผลิตอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่คณะจะต้องเร่งพัฒนาผลงานวิจัยเพื่อช่วยยกระดับสินค้าของเกษตรกรในท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลก

ปิดท้ายด้วย นายณัฐภพ เส้งสีแดง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เจ้าของผลงานปลูกแตงโม เผยแตงโมเป็นพืชอีกชนิดที่ตลาดต้องการมาก ใช้เวลาในการปลูกไม่นาน 65-75 วันก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว ซึ่งการได้ฝึกปฏิบัติจริงทำให้ตนและเพื่อนๆ เกิดความเชี่ยวชาญจนนำกลับไปปลูกเองได้ที่บ้าน และให้คำแนะแนะนำคนที่สนใจได้อีกด้วย

ที่สำคัญ การเรียนทางด้านเกษตรไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แม้จะทำอาชีพอื่นก็สามารถใช้ความรู้ที่มีสร้างรายได้เสริม หรือปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ ไว้รับประทานในครัวเรือน มีความเป็นอยู่ที่พอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

-- advertisement --