-- advertisement --

 มหิดลเดินหน้า 4 รพ.ในสังกัดลด ก๊าซเรือนกระจก

รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกจากมหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นสถานศึกษาที่มีความหลากหลายของสาขาวิชาการแล้ว ยังมีหน่วยงานโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัดหลายแห่ง และการให้บริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งการให้บริการแต่ละวันมีการใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของโลก

ทั้งนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558– 2562 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University) มีเป้าหมายชัดเจนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ คือ การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

“การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆขององค์กรนั้น และจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ในการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” รศ. ดร. กิติกร กล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบัน โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน,โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ และ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ ได้รับตราสัญลักษณ์เป็นที่เรียบร้อย

-- advertisement --