-- advertisement --

 ม.มหาสารคาม ทำจริง ใช้จริง  ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษใบไม้ ประหยัดทุน บำรุงดิน

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีขยะประเภทกิ่งไม้ ใบไม้ที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่ง และการตัดหญ้าของงานภูมิทัศน์ มีปริมาณเป็นจำนวนมากต่อวัน โดยงานจัดการขยะและของเสีย กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีแนวคิดที่จะเพิ่มคุณค่าของเศษใบไม้เหล่านี้ โดยการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร มีประสิทธิภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งเป็นการส่งเสริมนโยบายมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) อุดมไปด้วยไนโตรเจนและธาตุอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสำหรับพืช สามารถใช้ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ พืช ผัก และผลไม้

นางสาวจุฬาลักษณ์ ปะวันนา เจ้าหน้าที่งานจัดการขยะและของเสีย กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า หลังจากที่กองอาคารสถานที่ มีนโยบายดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มุ่งมั่นจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบโดยการมีส่วนร่วมของทุกส่วนงาน นอกเหนือจากรณรงค์การคัดแยกขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้แล้ว การจัดการกับปัญหาขยะที่สามารถย่อยสลายได้ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ต้องทำต่อเนื่องควบคู่กันไปนั่นก็คือการทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษใบไม้

โดยการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากหมักบ่มสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้สลายตัวและผุพังไปบางส่วน ทำให้ได้ปุ๋ยที่มีลักษณะสีคล้ำดำ มีลักษณะเป็นผง ละเอียดเหมาะ สำหรับการปรับปรุงดิน และให้ธาตุอาหารแก่พืช มีส่วนผสม เศษอินทรีย์ ได้แก่ ใบไม้ เศษหญ้า 10ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน และน้ำหมักชีวภาพ (EM) 1 ส่วน

มีขั้นตอน และวิธีทำ คือ สับย่อยเศษใบไม้ ใบหญ้า ผสมปุ๋ยคอก แกลบดำ และเศษใบไม้ เศษหญ้า ที่ผ่านการสับละเอียดคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นไปวางกองเรียงเป็นแถวให้มีความหนาไม่ 15 เซนติเมตร รดน้ำหมักชีวภาพให้ทั่วกองปุ๋ยและรดน้ำตาม กลับกองปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทิ้งไว้ให้ย่อยสลายประมาณ 45-60 วัน ขั้นตอนสุดท้ายนำไปอัดเม็ดและนำไปใช้ประโยชน์

สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อปุ๋ยเริ่มย่อยสลายจะมีลักษณะสีคล้ำดำ แสดงว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งปริมาณอินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน

ทั้งนี้ งานภูมิทัศน์ กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ดังกล่าว ไปบำรุงต้นไม้ ปรับปรุงดิน ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถลดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อปุ๋ย อีกทั้งทำให้ภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัย เกิดความสวยงาม ร่มรื่น มีบรรยากาศที่ดีในการเรียน การทำงาน และเกิดความประทับใจแก่ผู้มาเยือน

-- advertisement --