-- advertisement --

 ม.วลัยลักษณ์MOU เรียนข้ามชาติ 2 มหา

พัฒนาหลักสูตร 3+1 ด้านวิศวกรรมโยธา-ไฟฟ้า และพัฒนางานวิจัยจากหิ้งสู่การใช้จริง ขยายผลเชิงพาณิชย์ ถ่ายทอดเทคโนฯปลูก-แปรรูปสินค้าเกษตร

รศ.ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาวลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนพร้อมศ.ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ศ.ดร.วรทัศร์ ขจิตวิชยานุกูล คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร และคณะผู้บริหารม.วลัยลักษณ์ได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อเยี่ยมชมและลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ 2 มหาวิทยาลัยในประเทศจีน ประกอบด้วย Harbin Engineering University (HEU) และ Heilongjiang Academy of Science (HAS) ณ เมืองฮาร์บิน

ทั้งนี้ ม.วลัยลักษณ์และ HEU จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี (HEU Track) ในรูปแบบ3+1 เรียนที่มวล. 3 ปี และเรียนที่ HEU 1 ปีใน 3 สาขาวิชาคือ วิศวกรรมเคมีวิศวกรรมโยธาและวิศวกรรมไฟฟ้า เปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา63 โดยนักศึกษาจะได้เรียนภาษาจีนตั้งแต่ปี1จนถึงระดับเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์โดยอาจารย์จาก HEU ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนที่ประเทศจีนและไปปฏิบัติสหกิจศึกษาในสถานประกอบการในจีนเป็นเวลา1ปี

นอกจากนี้ ในด้านการวิจัยนักวิจัยจาก HEU จะมาร่วมเป็น keynote speaker และร่วมจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติกับมวล.ในงาน International Conference ที่จะจัดที่มวล.ช่วงวันที่ 26-27 มี.ค.63 ซึ่งตรงกับวันสถาปนามวล.เดือนมี.ค.ของทุกปีเพื่อให้เกิดการสร้าง research team ระหว่างสองสถาบันนำไปสู่การขอทุนวิจัยร่วมกันการตีพิมพ์ผลงานวิชาการพัฒนานวัตกรรมและแลกเปลี่ยนนักวิจัยด้วย

ในส่วนความร่วมมือกับ HAS จะมีนักวิจัยมาร่วมเป็น keynote speaker และร่วมจัด international seminar กับมวล.ในงาน International Conference ที่จะจัดที่มวล.ในวันสถาปนามวล. โดยจะพัฒนางานวิจัยร่วมกันในสาขา Biological pesticides Functional Food และ Agricultural product รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก HAS มาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปลูกและแปรรูปสินค้าเกษตรของจีนที่มีชื่อเสียงมากแก่ผู้ประกอบการไทย

“Harbin Engineering University เป็นสถาบันการศึกษาของจีนที่เชี่ยวชาญและชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนและงานวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ ส่วน Heilongjiang Academy of Science ( HAS) เน้นงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์จริง ผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดสัดส่วนของงานวิจัยมากกว่า 85% จะถูกนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทางวิชาการกับมวล.ได้เป็นอย่างดี” รศ.ดร.จรัญกล่าว

-- advertisement --