-- advertisement --

 สสวท.โต้เลิกจ้างพิมพ์ตำราเรียนกับองค์การค้า/ย้ำบทบาทชัดแค่ผลิตต้นฉบับ

ไม่เกี่ยวข้องเรื่องกำไร-ค่าตอบแทนใดๆ กับใครทั้งสิ้น ระบุข่าวที่ออกมาไม่จริง หน้าที่แค่ทำต้นฉบับหนังสือเรียนและให้ลิขสิทธิ์การพิมพ์ ซึ่งองค์การค้าได้วิชาวิทย์และคณิตแต่กลับส่งหนังสือช้า ป่านนี้หลายโรงเรียนทั่วไทยที่ยังไม่ได้หนังสือ สร้างผลกระทบกับนักเรียน บอร์ดสสวท.จึงมีมติใหม่ปรับสัดส่วนให้จุฬาฯได้พิมพ์เพิ่มจากเดิม 15% เป็น 30% ขณะองค์การค้ายังได้สิทธิ์ส่วนใหญ่ 70% อยู่ดี ชี้ที่เป็นปัญหาขึ้นมาอาจเพราะผู้บริหารองค์การค้าเปลี่ยนใหม่เลยอาจเข้าใจกันคลาดเคลื่อน พร้อมเร่งปี 62 ต้องส่งหนังสือให้ทันเปิดเทอม

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.61 ศ.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรมว.ศึกษาธิการ เรื่อง สสวท. เตรียมเลิกจ้างพิมพ์หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี กับองค์การค้าของ สกสค. และ สสวท. ไม่เคยหารือกับ องค์การค้าฯ นั้น ขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงซึ่งอาจทำให้โรงเรียนและสาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดได้ เนื่องจาก สสวท.เป็นผู้จัดทำต้นฉบับหนังสือเรียนและมอบลิขสิทธิ์ให้หน่วยงานที่เหมาะสม พิมพ์เป็นหนังสือเรียน โดย สสวท.ไม่ได้จ้างพิมพ์ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในค่าการตลาดและกำไร ขณะเดียวกัน สสวท.ได้หารือกับองค์การค้าฯ มาตลอด

ศ.ชูกิจ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา สสวท. ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การค้าของ สกสค. และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำต้นฉบับของ สสวท. ไปผลิตและจำหน่ายให้กับโรงเรียน และนักเรียนไทย โดย สสวท. ได้ให้ลิขสิทธิ์กับองค์การค้าฯ ในการนำต้นฉบับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ส่งให้ถึงมือนักเรียน คิดเป็นกว่า 80% ของต้นฉบับทั้งหมดของ สสวท. ในขณะที่ให้ลิขสิทธิ์กับสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิชาเทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งผลที่ปรากฏในช่วงเทอมที่ผ่านมา พบว่าหนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีความล่าช้าในการจัดส่งตั้งแต่ต้นเทอมจนถึงปลายเทอม ซึ่งถึงปัจจุบันก็ยังมีโรงเรียนที่ยังไม่ได้หนังสือ

“บอร์ด สสวท. ได้รับข้อมูลร้องเรียนถึงปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเรียนการสอนนักเรียนทั่วประเทศ ทำให้กังวลและพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยกระจายความเสี่ยงให้ผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าในการส่งมอบหนังสือเรียนให้ถึงนักเรียน บอร์ดฯ จึงมีมติเมื่อวันที่ 13 ก.ค.61 ให้ปรับสัดส่วนให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เล่มใหม่สำหรับชั้นมัธยมด้วย โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นจาก15% เป็น30% โดยบอร์ด สสวท. ยังคงให้องค์การค้าฯ ได้รับสิทธิ์ในการพิมพ์ประมาณ 70 % ของต้นฉบับของ สสวท. ทั้งหมด” ผอ.สสวท. ย้ำและว่า

ที่ผ่านมา สสวท. ได้หารือกับองค์การค้าฯ มาตลอด ซึ่งภายหลังจากปรับเปลี่ยนผู้บริหารองค์การค้าฯ อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันได้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ผอ.สสวท. ได้เข้าหารือกับนายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดก.ศึกษาธิการ และนายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ด้วยกัน โดยสสวท.ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมติบอร์ด สสวท. อธิบายให้เข้าใจว่าข้อมูลที่องค์การค้าฯออกข่าวไปก่อนหน้านั้นคลาดเคลื่อน บอร์ด สสวท. ไม่ได้ลดจำนวนต้นฉบับจำนวนมากอย่างที่องค์การค้าฯเข้าใจ และขอให้องค์การค้าฯ ยืนยันการรับลิขสิทธิ์ 70% ของต้นฉบับไปดำเนินการ และให้แจ้งกลับ สสวท.ตามกำหนดเวลา เพื่อให้สามารถผลิตหนังสือเรียนคุณภาพเสร็จถึงมือนักเรียนทั้งประเทศทันใช้เปิดภาคเรียนปี 62 ซึ่ง ผอ.องค์การค้าฯ จะนำข้อมูลเพื่อไปหารือและชี้แจงกับสังคมต่อไป

-- advertisement --