-- advertisement --

20 ก.ค.1969  50 ปี ก้าวแรกมนุษยชาติเหยียบ  ดวงจันทร์

ย้อนหลังช่วงนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผู้คนทั่วโลกต่างลุ้นไปด้วยกัน

กับก้าวสำคัญยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์สามารถข้ามผ่านจากโลกขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ ที่ก่อนหน้าเราได้แต่แหงนหน้ามองดูท้องฟ้าและจินตนาการมากมายมีอะไรอยู่บนนั้น

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นั้น โดยระบุ

“16 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ยานอะพอลโล 11 พร้อมด้วยมนุษย์สามคน ทะยานจากแหลมคานาเวอรัลขึ้นสู่ฟ้า มุ่งหน้าไปปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ในห้วงอวกาศ

มนุษย์กำลังจะไปเยือนดวงจันทร์ ดาวบริวารเพียงดวงเดียวของโลกที่เฝ้ามองกันอยู่ทุกค่ำคืน

20 กรกฎาคม ค.ศ.1969 ยานอะพอลโล 11 ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จ เป็นครั้งแรกของมวลมนุษยชาติที่ได้เหยียบลงบนโลกอีกใบหนึ่ง โทรทัศน์ทั่วโลกร่วมกันเผยแพร่วินาทีสำคัญ ทำให้เกิดความตื่นตัวและความตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการสำรวจอวกาศในอนาคต

นับเป็นอีกช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำในทุกเสี้ยววินาที”

“รู้หรือไม่…?!? รอยเท้านี้ไม่ใช่ของ นีล อาร์มสตรอง

นีล อาร์มสตรอง เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ แต่…ภาพรอยเท้าที่ปรากฏออกสื่อต่าง ๆ ของนาซานั้นไม่ใช่รอยเท้าของนีล อาร์มสตรอง แต่เป็นรอยเท้าของบัซซ์ อัลดริน นักบินอวกาศอีกคนที่ตามลงไปเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่ 2 ที่บันทึกโดยนีล อาร์มสตรอง นั่นเอง…

พื้นผิวของดวงจันทร์มีลักษณะขรุขระ เต็มไปด้วยฝุ่นที่คล้ายกับแป้ง เมื่อนักบินอวกาศเหยียบลงไปจึงปรากฏรอยเท้าให้เห็นอย่างชัดเจน รอยเท้าเหล่านี้จะประทับอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ไปอีกได้นานนับล้านปี เนื่องจากบนดวงจันทร์ไม่มีลมหรือฝนที่จะทำให้สภาพพื้นผิวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”

“รู้หรือไม่…?!? ท้องฟ้าบนดวงจันทร์เป็นอย่างไร ?

ท้องฟ้าบนดวงจันทร์นั้นต่างจากโลก เพราะจะมืดสนิทเสมอ สามารถมองเห็นดาวได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน และจะเห็นโลกตอนเต็มดวงมีขนาดเชิงมุม 1.9 องศา ใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงที่มองจากโลก 3.75 เท่า”

รู้หรือไม่…?!? ธงชาติสหรัฐฯ ที่ถูกปักในภารกิจอะพอลโล 11 อาจไม่ได้ตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิมเหมือนที่เราเคยเห็น ?

19 กรกฎาคม ค.ศ.1969 นีล อาร์มสตรอง และบัซซ์ อัลดริน ปักธงชาติสหรัฐอเมริกาบนพื้นผิวดวงจันทร์อย่างสง่างาม แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องทะยานกลับสู่โลก บัซซ์ อัลดริน มองเห็นธงชาติล้มลงจากแรงขับดันจากไอพ่นของยานลูนา โมดูล”

รู้หรือไม่…?!? นีล อาร์มสตรอง และบัซซ์ อัลดริน อยู่บนดวงจันทร์เกือบครบ 1 วันตามเวลาบนโลก ?

“EVA (Extravehicular Activity)” เป็นคำที่เรียกรวมการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของนักบินอวกาศที่อยู่นอกเหนือชั้นบรรยากาศโลกทั้งหมด ซึ่งในภารกิจอะพอลโล 11 นี้มีการทดลองและติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์หลายอย่าง ทำให้นีลและบัซซ์ต้องใช้เวลาอยู่บนดวงจันทร์นานถึง 21 ชั่วโมง 36 นาที อย่างไรก็ดี 7 ใน 21 ชั่วโมงนี้ ทั้งคู่ใช้ไปกับการนอนหลับในยานอวกาศ (ส่วนอีกคน ไมเคิล คอลลินส์ จะอยู่ในยานบัญชาการที่โคจรรอบดวงจันทร์ขณะปฏิบัติการ)

หลังจากยานอะพอลโล 11 นำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2512 #ดวงจันทร์ ยังคงเป็นสถานที่เดียวในอวกาศที่มนุษย์เดินทางไปถึง

ครึ่งศตวรรษต่อมา นาซาชวนผู้คนทั่วโลกร่วมแสดงความรู้สึก ความทรงจำ และความหวังเกี่ยวกับอนาคตในโครงการที่เรียกว่า “แชร์เรื่องอะพอลโลของคุณ ( Share Your Apollo Story )” ผู้คนนับร้อยต่างพากันแชร์ความคิดเห็นที่มีต่อภารกิจอะพอลโล 11 รวมถึงภารกิจอื่นของอะพอลโล และความมุ่งหวังในอนาคตข้างหน้า

ตัวอย่างความคิดเห็นของผู้ร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้น :

“เรากำลังทำแผนที่โลก แต่นาซาเริ่มทำแผนที่สู่ดวงจันทร์แล้ว” ริชาร์ดกล่าว เขาเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยที่กำลังศึกษาห้วงลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก และได้มองดูวินาทีปล่อยยานจากเรือวิจัยในช่วงเวลานั้น

ขณะที่บนแผ่นดินสหรัฐ
พอลกำลังจะแต่งงาน บาทหลวงได้ประกาศว่ามนุษย์อวกาศได้ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์แล้วกลางงานแต่งของเขา ดังนั้นปีนี้จึงครบรอบ 50 ปี การแต่งงานของเขาด้วยเช่นกัน

ค่ำนั้น ปีเตอร์ คิง วัย 12 ขวบ นั่งดูการถ่ายทอดสดผ่านช่อง CBS เพียงลำพัง เพราะพ่อแม่เดินทางด้วยเที่ยวบินไปเมืองอื่น “ผมอยากเป็นผู้ประกาศข่าวตั้งแต่คืนนั้น ผมนั่งอ่านข่าว บรรยายฉากสำคัญนั้นด้วยโทนเสียงสูงเลียนแบบผู้ประกาศ และบันทึกเสียงลงเครื่องเล่นใหม่ล่าสุดที่มี” จากความฝันสู่ความเป็นจริง ด้วยความประทับใจที่เกิดในคืนนั้น ปัจจุบัน คิงทำงานให้กับคลื่น CBS ในฟลอริดา

ไม่เพียงแต่ในสหรัฐ คริสโตเฟอร์ผู้อาศัยอยู่กับย่าที่อังกฤษในฤดูร้อนนั้น เล่าว่า “ผมยังจำได้ดี ย่าปลุกผมขึ้นมากลางดึก พาออกไปที่สวน และชี้ไปยังดวงจันทร์ พร้อมกับบอกผมว่า มนุษย์กำลังเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก พอมองย้อนกลับไป ผมถึงได้ตระหนักว่า นั่นแหละคือ ชั่วขณะที่เป็น “ช่วงเวลาประวัติศาสตร์” วินาทีที่เราเป็นหนึ่งเดียวกัน”

นี่เป็นแค่เรื่องราวเรื่องเล่าเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น ซึ่งสดร. ได้จัดเสวนาดาราศาสตร์ “50 years First Man on the Moon : ครบรอบ 50 ปี มนุษย์คนแรกเหยียบดวงจันทร์”

ฟังเรื่องราว…ล้วงลึกทุกประเด็น ถึงความสำเร็จในการนำมนุษย์สู่ดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว…
การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ การส่งยานออกนอกโลก ส่วนประกอบต่างๆ ของยานอะพอลโล11 การเดินทางสู่ดวงจันทร์ของนักบินอวกาศทั้ง 3 การปฏิบัติภารกิจสำรวจและทดลอง การเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย เพราะเบื้องหลังมีอะไรมากกว่าที่คาด !! และอื่นๆ ในวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องประชุมดร.ถาวร พรประภา ออดิธอเรียม ชั้น 5 อาคารสยามกลการ (BTS สนามกีฬาแห่งชาติ) กรุงเทพฯ เวลา 13.30 – 16.00 น. ฟรี

-- advertisement --