-- advertisement --

8  มี.ค. 2564 นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์เพื่อต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ พร้อมทั้งปลดล็อกข้อจำกัดของการเป็นเพียงบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ที่จะต้องดำเนินงานภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขของการควบคุมธุรกิจ AMC ทำให้การต่อยอดธุรกิจของ BAM ทำได้ค่อนข้างจำกัด

ทั้งนี้การจัดตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์นั้นจะทำให้การดำเนินงานของ BAM ในการต่อยอดและแตกไลน์ธุรกิจของบริษัทลูกในเครือที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจแต่ละด้านที่แตกต่างกันสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน  ซึ่งจะเสริมให้ BAM สามารถเติบโตได้มากขึ้นมากกว่าปัจจุบันที่ทำธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีการแข่งขันในตลาดมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสให้กับบริษัทในเครือของ BAM สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยลดการพึ่งพาเงินทุนจาก BAM ลง และบริษัทในเครือสามารถบริหารงานต่างๆ  อย่างเต็มที่แผนการจัดตั้งโฮลดิ้งส์ของ BAM ยังอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาราว 8 เดือนหรือในช่วงปลายปี 64 จะมีความชัดเจน และหลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้าเสนอคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) พิจารณา ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการพิจารณาเพื่อขออนุมัติต่อไป

“การเป็น Holding company สามารถทำให้เราขยายการเติบโตได้มากขึ้น เพราะวันนี้เราเป็น AMC การจะทำอะไรเพิ่มก็ติดกฎเกณฑ์อยู่บ้าง และจริงๆ เรายังมีบริษัทในเครือที่มีความสามารถหลากหลายด้าน ถ้า BAM เป็น Holding แล้ว Spin-off บริษัทลูกออกมา ก็จะทำให้ BAM มีศักยภาพขยานเติบโตมากขึ้น

อย่างธุรกิจที่เรามีความสามารถและเราสนใจอยากทำ เช่น ธุรกิจบริหารและติดตามหนี้ เหมือนบริษัทอื่นที่อยู่ในตลาด เราก็มองเห็นโอกาสและความสามารถของเราที่ทำได้ แต่อาจจะติดเงื่อนไขของ AMC และธุรกิจเกี่ยวกับการรับจ้างออกแบบ ซึ่งทีมงานของเราก็มีควทมสามารถในการรีโนเวททรัพย์ต่างๆอยู่แล้ว ถ้าเราเป็น Holding ก็สามารถต่อยอดธุรกิจไปได้มากขึ้น”นายบัณฑิต กล่าว

สำหรับเป้ารายได้ในปี 64 ตั้งเป้าไว้ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อนมีรายได้ 1.24 หมื่นล้านบาท และตั้งงบลงทุนซื้อสินทรัพย์ NPL และ NPA เข้ามาบริหารจัดการไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านบาท โดยการประมูลซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆ และการขายทอดตลาดที่กรมบังคับคดี แต่จะเน้นการคัดเลือกทรัพย์ในแต่ละกลุ่มมากขึ้นปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแล 85,102 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 4.84 แสนล้านบาท และ NPA จำนวน 21,574 รายการ คิดเป็นราคาประเมินมูลค่า 6.25 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในระยะ 5 ปี (ปี 64-68) สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 ตั้งเป้ารายได้ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท ล้านบาท ปี 65 ตั้งเป้า 1.89 หมื่นล้านบาท ปี 66 ตั้งเป้า 2.05 หมื่นล้านบาท ปี 67 ตั้งเป้า 2.21 หมื่นล้านบาท และปี 68 ตั้งเป้า 2.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

-- advertisement --