-- advertisement --

การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในกระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี การปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคม และการดำเนินชีวิต ในความเชี่ยวกรากจากการจัดปรับภูมิรัฐศาสตร์-ภูมิเศรษฐกิจของโลกวันนี้ ย่อมเป็นงานยาก-ท้าทายยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ต้องสร้างความเคลื่อนไหวหลายมิติไปพร้อมๆ กัน! ทั้งปรับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม-โลจิสติกส์-สร้างพื้นฐานการสื่อสารยุค 5จี และระดมสร้างการลงทุนตามเป้าหมาย 2.4 ล้านล้านบาท ในเวลาที่กำหนด ซึ่งทุกมิติดำเนินไปในความผันผวนทางการเมืองทั้งในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ!!!

การพัฒนาในคลื่นความแตกแยกปรับตัว 2 แพร่งในโลกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใส่ใจ-รอบรู้ที่จะวางบทบาท-ตำแหน่งแห่งที่-จัดความเชื่อมโยงสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง กับโลกที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้-ยึดประโยชน์ของผู้คน-ประเทศเป็นหลัก มันเป็นโจทย์หินทีเดียว!

การลงทุน การกำหนดเป้าหมายเคลื่อนไหวสร้างการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี วันนี้ ส่วนใหญ่มีทิศทางค่อนข้างชัดว่าเป็นการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีทิศทางในแบบอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีนัยความต้องการทักษะ สมรรถนะ ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงระบบนิเวศของระบบงานบนฐานความคิด-ความเข้าใจใหม่ที่ต่างจากโลกเก่าสิ้นเชิง! ซึ่งเป็นอีกความท้าทายในการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ที่ต้องตระหนักถึงการผลิตสร้างบุคลากร-การศึกษาให้ตอบโจทย์โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่จะสร้างสัมฤทธิผลได้อย่างต่อเนื่อง-ยั่งยืน พร้อมจะสั่งสมความรู้-ทักษะจากเทคโนโลยีใหม่ของการลงทุน เพื่อนำไปต่อยอดสร้างอนาคตของประเทศต่อไปได้!

คณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรการศึกษาของอีอีซี ที่เรียกว่าคณะทำงาน EEC HDC เป็นกลุ่มงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนงานด้านนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อีอีซีได้ตั้งเป้าหมายการสร้างบุคลากรป้อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายรวมกว่า 5.6 แสนคน เป็นระดับอาชีวะ 54% ที่เหลือเป็นกลุ่มทักษะ-ความรู้ที่สูงกว่า EEC HDC ได้วางรากฐานการพัฒนาบุคลากร ทั้งการพัฒนาทักษะความรู้โดยตรงร่วมกับ 24 สถาบันอุดมศึกษาและ 40 วิทยาลัยระดับอาชีวะ รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่ที่จัดการศึกษาพื้นฐานกว่า 840 แห่ง รวมทั้งสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ยุคใหม่ ผ่านงบบูรณาการเพื่อปรับสร้างประสบการณ์-ทักษะ-การเรียนรู้ยุคใหม่-และประสบการณ์ โดยวางแนวการบริหารจัดการในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หวังจะสร้างสัมฤทธิผลหนุนการพัฒนาบุคลากรป้อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับอุตสาหกรรมในขณะเดียวกัน

3 วันที่ผ่านมา EEC HDC ได้จัดสัมมนาถอดรหัสความเคลื่อนไหวของการพัฒนาบุคลากรจาก 10 ศูนย์เครือข่าย ที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้-สร้างทักษะยุคใหม่ ซึ่งมีผลรวมพบว่า ทุกศูนย์มีความเคลื่อนไหวก้าวหน้ามาก-มีความร่วมมือรวมกันกว่า 400 บริษัท/ผู้ประกอบการ มีการปรับฐานการผลิตให้กับอุตสาหกรรมนับร้อยโรงงาน-และกำลังเชื่อมต่อปรับปรุงกลุ่ม SMEs ด้วย! ขณะเดียวกันก็มีการผลิตบุคลากรที่ใช้งบประมาณจากกระทรวงการอุดมฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และจากอีอีซี ผลิตบุคลากรยกระดับทักษะ-ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นไปรวมกว่า 40,000 คน ทั้งยังสร้างความร่วมมือผลิตบุคลากรเต็มหลักสูตรระดับอาชีวะและปริญญาตรี-โท รวมอีกกว่า 20,000 คน ไม่รวมการผลิตบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา-อาชีวศึกษา ที่มีการปรับสู่แนวทางการศึกษายุคใหม่ของกระทรวงในระดับทั้งมหาวิทยาลัยและอาชีวะที่ผลิตบุคลากรรวมกว่า 5 แสนคนในแต่ละปี!

กลุ่มการผลิตบุคลากร-การจัดการศึกษาที่ปรับตัวมากที่สุดเป็นกลุ่มทักษะด้านแมคคาทรอนิก หุ่นยนต์ ออโตเมชั่น ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิตอล และโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นไปตามกรอบความต้องการของการประกอบการ-อุตสาหกรรมยุคใหม่ และเป็นไปตามแผนการผลิตบุคลากรของ EEC HDC ซึ่งมีการเชื่อมโยงไปถึงงานการจัดปรับพื้นฐานระบบโรงงาน-ยกระดับศักยภาพการผลิตคู่ไปด้วย การศึกษาและพัฒนาคนของสถาบันการศึกษาในเครือข่าย EEC HDC ที่ก้าวหน้าในการผลิตบุคลากรและเป็นที่พึ่งพาของระบบโรงงานของอุตสาหกรรม/สถานประกอบการมีอยู่หลายศูนย์/หลายสาขา อาทิ ศูนย์แมคาทรอนิก สำนักวิศวกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคล ตะวันออก ศูนย์เชี่ยวชาญ EV conversion/ศูนย์ automation Park/ศูนย์การท่องเที่ยวคุณภาพสูง มหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์พาณิชยนาวี มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ศรีราชา ศูนย์ระบบราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ศูนย์แมคคาทรอนิก และศูนย์อากาศยาน วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ฯลฯ เป็นต้น

ความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพบุคลากร-ระบบการบริหารจัดการ-ระบบนิเวศการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่ถอดรหัสจากความเคลื่อนไหวของศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 10 ศูนย์ ในอีอีซีนี้เป็นพื้นฐานที่บอกถึงความมั่นใจในการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ การลงทุนในอีอีซีจะมีบุคลากรเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีการปรับตัวเคลื่อนไหวก้าวหน้าทันโลกแน่นอน!!! ที่สำคัญศูนย์บางแห่งเป็นกลไกที่จะสร้างเศรษฐกิจกลุ่มโอกาสใหม่ขึ้นด้วย เช่น กรณีอุตสาหกรรม EV conversion ที่ศูนย์เชี่ยวชาญ EV conversion ม.บูรพา ร่วมมือกับ 20 วิทยาลัยอาชีวะ ธนาคารออมสิน และภาคเอกชนที่เข้าร่วม ขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กลุ่มสังคมฐานรากกว่า 30,000 มูลค่าเศรษฐกิจมากกว่า 2 ล้านล้าน ภายใน 5 ปีนี้! ซึ่งเป็นการพัฒนาโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยให้กลุ่มเศรษฐกิจสังคมฐานล่างลืมตาอ้าปากได้ นี่คืออีกความก้าวหน้าใหม่ของประเทศ ที่คณะทำงาน EEC HDC ขับเคลื่อนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา!!!.

-- advertisement --