-- advertisement --

KKU ‪Smart Learning โมเดลพัฒนาการศึกษาพื้นที่อีสาน

“หมอธี” ชู KKU ‪Smart Learning ตัวอย่างการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรม เป็นโมเดลของพื้นที่อีสาน หวังขยายผลทั่วประเทศ ขณะที่ มข.ตั้งเป้า 3 ปีมีนักเรียนมัธยมกว่า 8.1 คน ครูกว่า 4 พันคนได้รับการพัฒนา

วันที่ 23 เม.ย.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Smart Learning Expo ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมกล่าวบรรยายพิเศษ “การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ THAILAND 4.0” ตอนหนึ่งว่า การปฎิรูปการศึกษา จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ และต้องสร้างให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต้องต่อยอดและพัฒนาของเก่าที่มีอยู่ด้วย ซึ่งการปฏิรูปการนั้นจะมีวิวัฒนาการในแต่ละช่วง เพราะฉะนั้นการปฎิรูปการศึกษา ไม่ใช่มองแต่เรื่องโครงสร้างแต่ควรเป็นการนำข้อผิดพลาดของการศึกษาว่าอยู่ตรงจุดไหนแล้วมาช่วยกันแก้ไข วางแผนทิศทางแก้ไขให้ชัดเจน ทำในสิ่งที่ทำได้ไม่ใช่คิดแผนงานกันแบบลอยๆเหมือนนามธรรมแต่จับต้องไม่ได้

นอกจากนี้ ในการปฎิรูปการศึกษาต้องมีการวัดและประเมินผลด้วยว่า สิ่งที่เราดำเนินการมาถูกทิศทางจนสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาการปฎิรูปการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกก็เกิดวิกฤติเช่นกัน แต่ก็มีการนำหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยกระตุ้น เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ที่ถูกนำมาใช้ในการช่วยวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็ก เพื่อจัดลำดับคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อีกทั้ง การปฏิรูปการศึกษายังต้องสร้างการรับรู้ คือต้องให้ประชาชนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงผ่านลูกหลานของพวกเขา เช่น เด็กเรียนมีความสุขมากขึ้น เข้าถึงสื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยีต่างๆมากขึ้น เป็นต้น

“สำหรับโครงการ KKU ‪Smart Learning‬ ของ มข.ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรม และไม่ได้เน้นแค่คณะศึกษาศาสตร์ แต่ยังมีคณะอื่น ๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ เข้ามาร่วมทำงาน จึงเป็นโมเดลสำคัญที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนในภาคอีสาน เพราะพัฒนาสมรรถนะนักเรียนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการจัดห้องเรียนเทคโนโลยี เนื้อหาหลักสูตรแบบออนไลน์ คู่มือการจัดการเรียนสำหรับครู นำร่องระดับมัธยมศึกษาใน 3 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งผมขอให้เพิ่มวิชาภาษาไทยเข้าไปด้วย โดยขอให้ขยายไปสู่เด็กมัธยมในโรงเรียนขยายโอกาส และในอนาคตต้องยกระดับครอบคลุมทุกระดับชั้นและทุกภูมิภาค และอยากให้ว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ นำไปศึกษา เพื่อพัฒนาให้เหมาะสมตามตามสภาพของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้านนายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า มข. โดยฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning ได้จัดงาน Smart Learning Expo ครั้งที่ 1 มหกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ท ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งโครงการ KKU Smart Learning เริ่มต้นในปี 2560 เน้นการถ่ายทอดนวัตกรรมการเรียนการสอน ที่เกิดจากการวิจัยของอาจารย์ มข.สู่การใช้จริงในพื้นที่ ซึ่งเน้นการพัฒนาความรู้นักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และส่งเสริมทักษะนวัตกรรมและการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศและเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะด้านชีวิตและอาชีพ

ทั้งนี้ หลักสำคัญของ KKU Smart Learning คือ ในการนำไปสู่สมรรถนะที่คาดหวัง ผู้เรียนจะต้องได้รับความรู้ในเนื้อหาของหลักสูตรในระดับชั้นที่เรียน ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อและเทคโนโลยี และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหา และสอดคล้องกับโปรแกรมการวัดสมรรถนะของ PISA ซึ่งเป็นจุดเด่นของ KKU Smart Learning ที่ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบเสมือนจริง

นายกิตติชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน มข.กำหนดดำเนินการโครงการ KKU Smart Learning ระยะเวลา 3 ปี โดยในปีแรก ปีการศึกษา 2560 มีเป้าหมายดำเนินงานเป็นชั้น ม.1 ใน 45 โรงเรียนเขตจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีครูเข้าร่วมโครงการ 270 คน และนักเรียน 6,000 คน, ปีการศึกษา 2561 ขยายโครงการครอบคลุม 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีโรงเรียนเข้าร่วม 195 โรงเรียน นักเรียน 31,200 คน และจนครบเป้าหมายโครงการจะมีครูเข้าร่วมโครงการ 4,050 คน นักเรียน 81,000 คน โดย มข.ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19-3

-- advertisement --