-- advertisement --

เช่นเดียวกับในสังคมประเทศทั่วโลก สังคมที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่นทำให้ความปลอดภัยต่อเด็กค่อยๆ ลดน้อยลง มาดูกันว่าคนญี่ปุ่นมีวิธีการดูแลความปลอดภัยของเด็กโดยความร่วมมือกับทางโรงเรียนอย่างไรบ้าง
การตกลงเส้นทางและแบ่งกลุ่มเด็กไปกลับบ้านโรงเรียนที่จริงจัง

เด็กญี่ปุ่นจะต้องเดินไปกลับโรงเรียนเอง ไม่มีการขับรถไปส่งเหมือนบ้านเรา เมื่อเด็กเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กๆ จะถูกแบ่งกลุ่มให้เดินกลับบ้านตามเส้นทางเดียวกันหรือละแวกบ้านใกล้กัน บางโรงเรียนจะจัดให้มีการนัดรวมกลุ่มกันที่จุดนัดพบก่อนเดินออกไปโรงเรียนพร้อมกัน โดยในกลุ่มที่มีเส้นทางเดียวกันมักจะมีรุ่นพี่ทำหน้าที่ดูแลน้องๆ และบางโรงเรียนก็มีอาสาสมัครผู้ปกครองดูแลความพร้อมก่อนออกเดินไปโรงเรียน
ป้ายสีเหลืองติดกระเป๋านักเรียนและหมวก

เมื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กๆ จะได้รับป้ายสีเหลืองเพื่อติดกระเป๋าและหมวกนักเรียนเป็นเวลา 1 ปี สีเหลืองจะช่วยให้สังเกตได้ง่ายในการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับบ้านโรงเรียนและการข้ามถนน
อาสาสมัครผู้ปกครองเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่เด็ก
ในแต่ละชั้นเรียนจะมีกรรมการห้องเรียนที่อาสาดูแลความปลอดภัยของเด็กเมื่อออกนอกสถานที่ในเวลาเรียน ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยในขณะข้ามถนน
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์เตือนภัยในกรณีมีสิ่งไม่ปกติในบริเวณชุมชน
หากพบความผิดปกติ เช่น คนแปลกหน้าหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด โรงเรียนจะส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลไปให้ผู้ปกครองทันทีเพื่อให้ระมัดระวังดูแลเด็กให้ปลอดภัย
กาคุโด (学童) โครงการไม่หวังผลกำไรเพื่อดูแลเด็กหลังเลิกเรียนในกรณีที่พ่อแม่ทำงานทั้งคู่
กาคุโด เป็นโครงการที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น เพื่อให้พ่อแม่ที่ทำงานประจำมั่นใจว่าลูกน้อยปลอดภัยภายในรั้วโรงเรียน สำหรับเด็กประถมศึกษาที่มีอายุน้อยกว่า 10 ขวบที่พ่อแม่ทำงานทั้งคู่ เด็กจะได้รับสิทธิในการรับบริการดูแลเด็กหลังเลิกเรียนจากโรงเรียน โดยผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายค่าดูแลรายเดือนประมาณ 4,000- 7,000 เยนรวมของว่าง ที่โรงเรียนจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กหลังเลิกเรียนจนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. และในช่วงปิดเทอม
Acti (アクティ) โครงการไม่หวังผลกำไรให้เด็กทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน

โครงการนี้ไม่จำกัดว่าพ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ โดยเปิดให้เด็กที่อยากอยู่เล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียนมีกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านหนังสือที่ห้องสมุดและเล่นอย่างอิสระที่สนามเด็กเล่น เป็นต้น ข้อดีของโครงการนี้คือ เมื่อใดที่คุณแม่ป่วยหรือติดธุระไม่สามารถอยู่รอลูกตอนกลับบ้านได้ ก็สามารถให้ลูกลงทะเบียนทำกิจกรรมที่โรงเรียนหลังเลิกเรียนในวันนั้นๆ ได้เลย โดยมีค่าธรรมเนียมรายปี 800 เยน และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ตลอดจนดูแลเวลากลับบ้านตามที่ตกลงกับผู้ปกครองอย่างตรงเวลา
ในสังคมใหญ่อย่างโตเกียว ครอบครัวส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่กันเพียงพ่อแม่ลูก และไม่มีการจ้างพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูก เวลาหลังเลิกเรียนจึงมักเป็นปัญหาสำหรับพ่อแม่ที่ทำงานทั้งคู่หรือในกรณีที่แม่บ้านติดธุระ โครงการไม่หวังผลกำไรเพื่อดูแลเด็กหลังเลิกเรียนจึงช่วยลดความกังวลใจของผู้ปกครองไปได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ดูแลเด็กหลังเลิกเรียนจะเป็นจำหน้าที่ที่มีความชำนาญในการดูแลและจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก โครงการนี้จึงไม่สร้างความเหนื่อยหรือเพิ่มงานให้กับคุณครูผู้สอนประจำ
เพราะเด็กเป็นสมบัติที่มีค่าของประเทศ และสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้นไม่ได้ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนดังอดีต โรงเรียนจึงเป็นสถานที่สำคัญที่ช่วยปกป้องและดูแลเด็กให้ปลอดภัย เพื่อให้เด็กเหล่านั้นได้เติบโตเป็นอนาคตที่ดีของชาติ

-- advertisement --