-- advertisement --

กรมควบคุมโรค ย้ำ ช่วงเปิดเทอมอย่าไว้ใจยุงลาย ขอให้เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ในโรงเรียน

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ช่วงเปิดเทอมนี้ ขอให้สถาบันการศึกษาที่เปิดให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนได้ ภายใต้มาตการการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น เร่งจัดการสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ในโรงเรียนไม่ให้ยุงเกิด เพื่อไม่ให้นักเรียนโดนยุงกัดจนป่วยซ้ำเติมสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งกลุ่มเด็กยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายสูงสุด

            วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้สถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มเปิดเรียนแบบออนไซด์ (on site) มากขึ้น คือสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ ภายใต้มาตการการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น เนื่องจากสถิติการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกของกลุ่มเด็กวัยเรียนยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด จึงขอให้โรงเรียนจัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่นกิจกรรม BIG CLEANING DAY เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย เพื่อไม่ให้ยุงเกิดและไม่ให้นักเรียนโดนกัดจนป่วยซ้ำเติมสถานการณ์  โรคระบาดในปัจจุบัน  สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 พฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 8,584 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่ายมากที่สุด คือ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และอายุแรกเกิด – 4 ปี ตามลำดับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน และกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

            “แม้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2564 นี้จะมีตัวเลขที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 80 ของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีก็เริ่มมีสัญญานว่า จำนวนผู้ป่วยเริ่มมากขึ้นและจากปัจจัยต่างๆ เช่น ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และโดยธรรมชาติของโรคที่เมื่อมีการระบาดน้อยลงก็จะกลับมาระบาดมากขึ้นในปีถัดๆ มา เนื่องจากภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในคนลดลง และปัจจัยจากการเดินทางมากขึ้นในช่วงเปิดประเทศ จะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้โรคกลับมาระบาดอีกครั้งได้” นายแพทย์โอภาส กล่าว

            นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ข้อเน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือเก็บขยะให้เกลี้ยง เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เก็บน้ำให้มิดชิด จะสามารถป้องกันได้ทั้ง โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไม่ให้มีแหล่งพันธุ์ยุงลายโดยการเก็บขยะให้เป็นระบบ จัดแยกขยะทั่วไปโดยเฉพาะจำพวกแก้วน้ำ กล่องโฟมหรือกล่องพลาสติกในอาหาร วัสดุเหล่านี้เมื่อฝนตกลงมาจะมีน้ำขัง และเป็นที่วางไข่ของยุงลายได้ รวมไปถึงแอ่งน้ำขนาดเล็กเช่น บ่อน้ำพุ อ่างบัว หรืออ่างเลี้ยงพืชน้ำ ต้องหาปลาประประเภทกินลูกน้ำมาทำหน้าที่ตัดวงจรการเกิดของยุง ส่วนแจกันพลูด่างที่นิยมเอามตบแต่งห้องเรียนก็ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ จัดบริเวณห้องน้ำหรือห้องเรียนให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอาศัยเกาะพัก ห้องเรียนควรติดมุ้งลวดกันยุง เพราะยุงลายชอบหากินตอนกลางวัน รวมถึงการดัดแปลงยางรถยนต์เก่านำมาเป็นกระถางต้นไม้ จานรองกระถาง หรือเครื่องเล่นของเด็ก ควรวางไว้ในที่ร่มหรือเจาะรูเพื่อไม่ให้น้ำขัง และสุดท้ายก็ควรให้มีการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยเป็นระยะๆ โดยสามารถประสานหน่วยงานท้องถิ่นให้เข้ามาสนับสนุนได้

          นอกจากนี้ ขอให้ทุกโรงเรียนเคร่งครัดมาตรการป้องกันโควิด โดยจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์มาตรฐาน  ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด การจัดการขยะ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน คัดกรอง วัดไข้และสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง ขั้นสูงสุดตลอดเวลาแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention : UP) เน้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19

          ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออก   กับโรคโควิด 19 ทำให้มีอาการทรุดหนักมากและรวดเร็วได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการสงสัยดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564


-- advertisement --