-- advertisement --

ศานนท์ ลั่น ต้องแบบหลักสูตรพลเมืองโลก ‘วิชาชีวิต’ ถอดบทเรียน PM 2.5 33 ร.ร.ร่วมสร้าง ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ให้เด็กกทม.

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ฝุ่นนอกรั้ว” ถอดบทเรียนฝุ่นศึกษาจากโรงเรียนในสังกัด กทม.

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ThaiPBS และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ-ThaiPBS สำนักการศึกษา และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดกิจกรรมเสวนา “ฝุ่นนอกรั้ว” ถอดบทเรียนฝุ่นศึกษาจากโรงเรียนในสังกัด กทม. ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายทอดความรู้ของคุณครูในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้ง กทม. ภาคเหนือ และ ตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับนำข้อมูลไปถอดบทเรียน และสรุปออกแบบเชิงปฏิบัติการ เพื่อต่อยอดแนวทางความรู้ด้านฝุ่นศึกษาให้พัฒนาและเข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย นายศานนท์ กล่าวเปิดงานว่า เรื่องของฝุ่นสำหรับเด็กถือเป็นปัญหาใหญ่ หากปอดของเด็กได้รับควันพิษจะเกิดผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ชีวิตของเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงเรียนมากกว่า 1 ใน 3 ของวัน

“การทำให้โรงเรียนเป็นพื่นที่ปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกคน และที่ สสส.มาช่วยเหลือในวันนี้ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ ทำให้เด็กได้รับรู้ว่า ต้นเหตุของฝุ่นก็เกิดจากพวกเราเอง หรือเกิดจากผู้ปกครอง ซึ่งการทำให้รู้ ก็ถือว่าเป็นการป้องกันอย่างหนึ่ง” นายศานนท์กล่าว

นายศานนท์กล่าวอีกว่า ขอบคุณครูที่ทำให้เกิดกิจกรรมดีๆ เพื่อเด็ก ซึ่งคงต้องส่งเสริมการเรียนรู้ให้มากกว่า 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คงไม่ใช่แค่เรียนคณิตศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษ

“หัวใจคือการบูรณาการการเรียนรู้ให้เข้ากับความท้าทายในปัจจุบัน ทั้งการเรียนรู้ในเรื่องของดิจิทัล เรื่องไซเบอร์บูลลี่ หรือความหลากหลายทางเพศ โดยการเรียนรู้เรื่องของพลเมืองโลกกับวิชาชีวิต ต้องมาช่วยกันคิดดูว่าหลักสูตรจะออกแบบอย่างไร” นายศานนท์ระบุ

ทั้งนี้ โครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่ กทม.ให้ความสำคัญ โดยรูปแบบการให้ความรู้จะเน้นการให้ความรู้พื้นฐานกับนักเรียน มีการให้เครื่องวัดฝุ่นละอองเพื่อให้รู้ว่าสภาพฝุ่นของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร มีการใช้ธงสัญลักษณ์ เป็นสีต่างๆ ในการจำแนกสถานการณ์ฝุ่นในแต่ละวัน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนนำร่องอยู่ 34 แห่ง เป็นโรงเรียนในสังกัด กทม. 33 แห่ง และสังกัดเอกชน 1 แห่ง

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรม “ฝุ่นนอกรั้ว” โดย นายสันติพงษ์ ช้างเผือกศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ, ไทยพีบีเอส แนวคิด และแนวทางรับมือฝุ่น PM2.5 โดย นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. การถอดบทเรียน ด้วยกระบวนการ Six Thinking Hats โดย ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนายนิติธร ทองธีรกุล ผู้ชำนาญการอาวุโส ไทยพีบีเอส การนำเสนอ “นโยบายโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ กับ ฝุ่นศึกษา” โดย นายศานนท์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนากลไกสนับสนุน “ฝุ่นศึกษา” โดยตัวแทนจากโครงการห้องเรียนสู่ฝุ่น กทม. กรมควบคุมมลพิษ สสส. WWF ADPC และ GISTDA เข้าร่วมสนทนา การออกแบบฐานการเรียนรู้ เพื่อร่วมงาน Action Day PM2.5 (28 ม.ค. 66) ดำเนินรายการโดย นายนิติธร ทองธีรกุล สะท้อนมุมมองต่อกิจกรรม และกล่าวปิด โดยนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

-- advertisement --