-- advertisement --

ก่อนอื่นในการอภิปรายเรื่องนี้ ขอออกตัวเลยว่าเห็นด้วยกับ สจ๊วต วอริส ที่อภิปรายถึงความท้าทายของโลกจากการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาว่า

 “………โลกกำลังเผชิญสิ่งท้าทายที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เผชิญข้อจำกัดทางนิเวศน์วิทยาที่สำคัญของโลก ในเวลาเดียวกันก็ต้องมุ่งสร้างงานสร้างการดำรงชีวิตใหม่ 1,500 ล้านงานให้ได้ภายในปี 2050 เพื่อสู้กับการเติบโตของประชากรและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วยิ่งกว่าเดิม ยิ่งกว่านั้น หากพิจารณาอัตราปัจจุบันของการเลิกใช้คาร์บอนและลดการใช้ทรัพยากรในระบบนิเวศที่หายากอื่นๆ เราอาจกำลังเผชิญความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายของการสร้างงานกับการมีชีวิตในขอบเขตโลกที่ปลอดภัย และยังมีสิ่งท้าทายทางด้านความปลอดภัยทางภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวข้ามทวีปของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพด้านเศรษฐกิจ  และจากความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ขณะที่ความมั่งคั่งระดับโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของนัยยะทางบวกและลบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ถ้าเราไม่เผชิญกับอุปสรรคที่เป็นหายนะ ก็ต้องพบการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านการพัฒนามนุษย์ ซึ่งไม่ว่าทางใดก็ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบครั้งใหญ่ ที่มีทางออกที่เป็นไปได้อยู่หลายทาง แต่สิ่งที่กำหนดว่าควรเลือกทางออกเหล่านั้นหรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงระบบจะเป็นไปในทางบวกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่เป็นพื้นฐานนี่เอง…”

ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท่ามกลางอุปสรรค์มากมายที่ท้าทายโลกวันนี้ เป็นประเด็นที่ทำให้ต้องตระหนักถึงการปรับความคิด-วิสัยทัศน์-และปฏิบัติการในคลื่นการจัดการใหม่-ให้เป็นพื้นฐานในการสร้างการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความรู้-ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเรียนรู้-การนำใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทักษะ-สมรรถนะใหม่ที่ตระหนักถึงคุณค่าทางสังคมอย่างหนักแน่น!

แน่นอนว่าเรื่องสำคัญเช่นนี้ เราไม่อาจทำให้คุณค่าทางสังคมที่มีความสำคัญนี้ เกิดขึ้นจากกฎระเบียบที่สั่งจากบนลงล่างได้!!! ทั้งยังต้องสร้างให้เกิดแรงจูงใจจากผู้คนทั้งระบบ เพื่อจะได้ร่วมกันยกระดับปรับความคิด สร้างพฤติกรรมความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขตจากการรู้-ใช้-และพัฒนาเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องร่วมกำหนดคุณค่าทางสังคมขึ้นร่วมกัน โดยเฉพาะในการขับเคลื่อน-บริหารจัดการ-และการสร้างการศึกษาท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีวันนี้! โดยหน่วยงานด้านการศึกษาจะต้องตระหนักถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือตระหนักรู้ต่อการใช้เทคโนโลยีที่จะไม่ส่งผลร้ายต่อสังคม!!!

ประการแรก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาจำเป็นต้องรับรู้แรงดึงดูดและอิทธิพลที่แพร่หลายของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอยู่ในทุกแง่มุมของชีวิต รวมถึงการการเป็นสื่อกลางในปฏิสัมพันธ์กับเศรษฐกิจสังคมของเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อชีวิตและโลกแวดล้อม ซึ่งต้องสร้างคุณค่าที่อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบที่เกิดจากขอบเขตผลกระทบโดยรวมว่า กระทบต่อการดำรงชีวิตมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำสู่การวางกรอบคุณค่าให้เหมาะสมกับคุณประโยชน์ต่อชีวิตและสังคม

ประการที่สอง ต้องใคร่ควรทำความเข้าใจเป้าหมายส่วนบุคคลและองค์กรให้ชัด เพื่อสร้างทัศนะที่ชัดเจนในการมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยี-รวมถึงการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีที่มีอิสระ-ช่วยขับเคลื่อนความรู้และทักษะสู่พรมแดนใหม่ ๆ โดยตั้งเป้าในการกำหนดบริบทของความสามารถใหม่ ๆให้ยังประโยชน์ต่อสุขภาพของสังคมและการดำรงชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ประการที่สาม ต้องร่วมกันสร้างจุดยืนในเรื่องคุณค่าความสัมพันธ์ของคุณค่านั้น ๆ กับเทคโนโลยีในทางปฏิบัติ เพื่อวางพื้นฐานที่แข็งแกร่ง-ช่วยกำหนดวัฒนธรรมองค์กรและวิชาชีพ รวมทั้งนำสู่การจัดการเรียน-การสอนที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อการใช้-การพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิตโดยรวม

ประการสุดท้าย ทำให้คุณค่าที่ร่วมกันสร้าง-พัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้-การใช้-และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมีเจตนคติที่ดี-ยึดมั่นในพันธกิจสำคัญ ซึ่งจะทำให้เราได้ประโยชน์มากมายจากการใช้โอกาสเหล่านี้ บนฐานของความตระหนักรู้เรื่องคุณค่าให้เกิดขึ้นในมิติการตัดสินใจที่มีเหตุผล

การปรับพื้นฐานสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องรุนแรงบนฐานของคุณค่าเหล่านี้ จะเป็นการสร้างการศึกษาอย่างมีคุณค่าที่ตระหนักรับผิดชอบในท่ามกลางคลื่นของการปรับตัว-ปรับทักษะ-สมรรถนะของระบบการศึกษายุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสูงต่อชีวิตและสังคมอย่างมีสำนึกรับผิดชอบในการเข้าถึง-ใช้เทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพที่จะช่วยนำสู่ความยั่งยืน

วันนี้ อาชญากรรมทางสังคมที่อาศัยช่องว่างของความคิด-ความรู้-ความเข้าใจ-และทักษะในกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหลากมิติ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง-รุนแรงได้สร้างความเดือดร้อนในสังคมเป็นวงกว้าง! อาชญากรรมทางสังคมในโลกไซเบอร์-ยุคสังคมดิจิทัลนี้ล้วนก่อขึ้นจาก ความโลภ-ทะเยอทะยาน-ความไร้จริยธรรม ที่ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีทางลบอย่างรุนแรง ฯลฯ การสร้างความรู้ทักษะในคลื่นความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีบนพื้นฐานที่ตระหนักถึงคุณค่าทางสังคมในระบบการศึกษานี้ จะเป็นกลไกช่วยสร้างคุณค่าความตระหนักรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้-การพัฒนาทักษะสมรรถนะที่มีคุณค่า ที่จะลดอาชญากรรมทางสังคมลงและนำสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง!!!

-- advertisement --