-- advertisement --



“หมอประกิต” ชวนโรงเรียนทั่วประเทศประกาศเจตนารมณ์ “โรงเรียน…ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปกป้องสุขภาพเด็กไทย ชี้คนในครอบครัวสูบบุหรี่เป็นสาเหตุทำเด็กสูบตาม

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่า ขณะที่ข้อมูลการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บข้อมูลครั้งแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 49,180 คน คิดเป็น 0.09% หลังจาก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เริ่มบังคับใช้ และมีการห้ามจำหน่าย นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า การสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2564 จำนวนคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 78,742 คน คิดเป็น 0.14% ซึ่งการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่โรงเรียนรุนแรงมากขึ้นในปี 2565 จากการโฆษณาส่งเสริมการขายทางอินเทอร์เน็ต การวางขายตามตลาดนัดและที่อื่นๆ อย่างผิดกฎหมาย

ข้อมูลล่าสุดจากต่างประเทศพบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงและเลิกยากกว่าบุหรี่ธรรมดา ขณะที่การรณรงค์ในโรงเรียนลดอัตราการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าได้ และจากข้อมูลที่นำเสนอไว้ข้างต้น จึงอยากเน้นย้ำและขอเชิญชวนให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศร่วมกันประกาศและสื่อสารรณรงค์ให้ “โรงเรียน…ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” และร่วมกันขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่เชิงลึก ดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในการควบคุมยาสูบในโรงเรียน มุ่งเน้นให้นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเฝ้าระวังและป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ในโรงเรียน เป็นของขวัญในวันเด็กที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ โรงเรียน หน่วยงานที่ต้องการร่วมรณรงค์ หรือขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สามารถติดต่อได้ที่ www.smokefreezone.or.th หรือ 0-2278-1828



ด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ข้อมูลงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมต้นอายุ 11-16 ปี (อายุเฉลี่ย 13 ปี) พบสาเหตุสำคัญ 5 ประการ ที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้า 1.มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า 2.มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3.เพื่อนและคนรอบตัวมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ 4.เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน 5.เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ใด ๆ มาก่อน เมื่อเริ่มลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติดต้องสูบเป็นประจำ ภายในระยะเวลา 1 ปี จะมีแนวโน้มที่จะเริ่มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5.4 เท่า และมีแนวโน้มที่จะติดทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา (dual use) เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Gateway effects ของบุหรี่ไฟฟ้า หรือประตูสู่สารเสพติดอื่น ๆ รวมถึงบุหรี่ธรรมดา

-- advertisement --