หน้าแรก ข่าวการศึกษา เหตุการณ์ตุลา-สนธิสัญญาเบาว์ริง-คนไทยมาจากไหน รร.สาธิตธรรมศาสตร์สอนประวัติศาสตร์อย่างไร

เหตุการณ์ตุลา-สนธิสัญญาเบาว์ริง-คนไทยมาจากไหน รร.สาธิตธรรมศาสตร์สอนประวัติศาสตร์อย่างไร

-- advertisement --
  • สมิตานัน หยงสตาร์
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย

รร.สาธิตธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar/BBC Thai

สนามหญ้าสีเขียวโอบล้อมไปด้วยอาคารทรงโค้ง เต็มไปด้วยเด็กนักเรียนพากันจับกลุ่มทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบในช่วงพัก พื้นที่ฝั่งหนึ่งถูกเปลี่ยนเป็นสนามแบดมินตันชั่วคราว อีกมุมหนึ่งมีเด็ก ๆ จับกลุ่มกินขนมและพูดคุยกันออกรส ทุกคนสวมชุดลำลองดูคล่องตัว ไม่มีใครต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน

นี่เป็นบรรยากาศภายในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนมัธยมที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคมโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในแวดวงการศึกษา หลังมีผู้ตั้งคำถามถึงหลักสูตรการสอนของโรงเรียนที่ถูกวิจารณ์ว่าอาจนำไปสู่การบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันพระมหากษัตริย์และ ล้มล้างขนบธรรมเนียมประเพณี

หนึ่งในคนที่ออกมาวิจารณ์คือนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ซึ่งตั้งคำถามในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีข้อความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลและหน่วยงานราชการจะรอให้เขาล้างสมองเด็กทั้งชาติสำเร็จ จนเด็กเติบโตออกมาปฏิวัติล้มล้างขนบธรรมเนียมประเพณี ล้มล้างสถาบันฯ ล้มล้างการปกครอง ล้มล้างชาติ หรืออย่างไร”

คำถามเหล่านี้ดังไปถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาตอกย้ำถึงความกังวลดังกล่าว พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ

ข้อกังวลต่อการเรียนการสอนของ รร.สาธิต มธ. มีขึ้นไม่นานหลังจากผู้บริหารของโรงเรียนได้เชิญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา มานำเสนอแนวทางการพัฒนากรอบเนื้อหาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค.

ข้อเสนอของนักประวัติศาสตร์ผู้เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คืออะไร คุณครูสอนอะไร และนักเรียนเรียนอะไรในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของ รร.สาธิต มธ. บีบีซีไทยเดินทางไปโรงเรียนแห่งนี้เพื่อหาคำตอบ

เรียนประวัติศาสตร์แบบสาธิต มธ.

อ.ปฏิพัทธ์ สถาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้มัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ของ รร.สาธิต มธ. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 9 ก.พ. โดยเล่าภาพรวมถึงแนวทางการเรียนการสอนของโรงเรียนว่าตั้งอยู่บนหลักการ “ม.ต้นหลากหลาย ม.ปลายลงลึก”

รร.สาธิต มธ. ก่อตั้งขึ้นโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2559 เปิดการเรียนการสอนระดับชั้น ม.1-6 ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นมัธยมปลายถึงแค่ ม.5 ซึ่ง อ.ปฏิพัทธ์บอกว่าเมื่อมีนักเรียนครบทุกระดับชั้นแล้ว ทางโรงเรียนจะมีการทบทวนปรับปรุงหลักสูตรการเรียนอีกครั้ง

อ.ปฏิพัทธ์อธิบายเพิ่มเติมว่า รร.สาธิต มธ. ออกแบบการเรียนการสอนโดยอิงหลักเกณฑ์และวิธีการของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ ผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ออกมาเป็นหลักสูตรแบบสาธิต มธ. คือ

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น: จัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ “กลุ่มประสบการณ์” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สอดแทรกอยู่ในหลายส่วน แต่หลัก ๆ คือ กลุ่มมนุษย์กับสังคม (people and society) ที่ส่งเสริมให้ใช้ประสบการณ์เดิมที่มีทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อและความเป็นอยู่ทางสังคม เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทางสังคม

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย: จัดระบบคล้ายกับเป็นมหาวิทยาลัยจำลอง ไม่มีครูประจำชั้น แต่ใช้ระบบครูที่ปรึกษาคอยดูแล ชั้น ม.4 นักเรียนทุกคนจะเรียนวิชาพื้นฐานด้วยกัน พอขึ้นชั้น ม.5 นักเรียนจะสามารถเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ตามที่ตัวเองสนใจ โดยแบ่งเป็นกลุ่มการเรียนรู้เฉพาะทาง 6 ด้าน และกลุ่มพื้นฐานการเรียนรู้

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

อ.ปฏิพัทธ์ สถาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้มัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้ดูแลเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ของ รร.สาธิต มธ.

“เด็กจะต้องวางแผนว่าเขามีเป้าหมายสนใจด้านไหน อยากทำอาชีพอะไร แล้วค่อยผสมวิชาที่เขาสนใจ โดยจะมีกลุ่มเฉพาะทางหลักหนึ่งกลุ่ม…ยกตัวอย่าง เขาอยากเป็นหมอที่เปิดคลินิก ต้องมีความรู้พื้นฐานทางธุรกิจเล็กน้อย แน่ละว่าเขาต้องเรียนแท่งหลักสายสุขภาพ แล้วก็สามารถเรียนวิชาในกลุ่มธุรกิจด้วย” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษาตอนปลายอธิบาย

วิชาประวัติศาสตร์ที่ทำให้โรงเรียนถูก “ตรวจสอบ” อยู่ในกลุ่มการเรียนรู้เฉพาะทางด้านสังคมและมนุษย์ศาสตร์ (social science and humanities) ซึ่ง อ.ปฏิพัทธ์บอกว่าวิชาประวัติศาสตร์ของที่นี่ “มุ่งให้เข้าใจที่มาทางประวัติศาสตร์ และสภาวการณ์ทางสังคมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน” ผ่านการอ่านเอกสารประวัติศาสตร์ การเรียนวิชาต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์สรรพสัมพันธ์ และภูมิศาสตร์เพื่อการดำรงชีวิต เป็นต้น

เหตุการณ์เดือนตุลา สนธิสัญญาเบาว์ริง และคนไทยมาจากไหน

ในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมของ รร.สาธิต มธ. “ความหมายของประวัติศาสตร์” เป็นหัวข้อแรกในวิชาประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ผู้สอนชวนนักเรียนขบคิด จากนั้นอาจารย์จะเริ่มต้นจากการให้เด็ก ๆ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ คือ มธ.ศูนย์รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยศึกษาจากหลักฐานที่เป็นเอกสารและเรื่องเล่าของผู้คนในช่วงที่มีการโยกย้ายศูนย์การเรียนมาจาก มธ.ท่าพระจันทร์

การศึกษาประวัติศาสตร์ของที่ตั้งโรงเรียน นำไปสู่ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและบทบาททางการเมืองของ มธ. รวมทั้งในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ในที่สุด

“เราชวนเด็กดูหลายเรื่องมาก ทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งคำถามว่าทำไมช่วงเวลานั้นนักศึกษาถึงขึ้นมามีบทบาท ทั้งที่ยังมีสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ อยู่ หรือแม้แต่การอธิบายประวัติศาสตร์ทางการศึกษา พัฒนาการของระบบการศึกษา” อ.ปฏิพัทธ์กล่าว

เขายกตัวอย่างการเรียนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวของกับเหตุการณ์เดือนตุลาว่า อาจารย์จะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์วิธีการคิดและการตัดสินใจของบุคคลนั้น ๆ ในช่วงเวลานั้น ๆ นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองที่ต่างกันได้ โดยต้องมีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์มาสนับสนุน

อ.ปฏิพัทธ์เชื่อว่าแนวทางการสอนเช่นนี้จะทำให้เด็กเคารพความคิดเห็นของคนอื่นและรู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินใจเชื่อข้อมูลต่าง ๆ

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ตัวอย่างสไลด์ประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในหัวข้อสนธิสัญญาเบาว์ริง

เรื่อง “สนธิสัญญาเบาว์ริง” หรือหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม ที่โรงเรียนอื่น ๆ อาจจะสอนโดยให้อาจารย์ยืนบรรยายหรือให้นักเรียนไปท่องตำรามาสอบ แต่ที่ รร.สาธิต มธ. ให้นักเรียนรู้จักสัญญาประวัติศาสตร์นี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของทุ่งรังสิตที่โรงเรียนตั้งอยู่

“เราให้เด็ก ๆ เขียนเล่าสภาพการเปลี่ยนแปลงของทุ่งหลวงรังสิต ว่ามันเกี่ยวพันกับสินธิสัญญาเบาว์ริงยังไง จากแรกเริ่มเป็นป่า มีนก มีช้าง หลังทำสัญญาแล้วก็จะมีข้อความบรรยายบ้านเมือง ว่าเป็นตลาด ชุมชน มีร้านขายของให้เขาลองอ่านข้อความ ให้เขาดูสภาพการเปลี่ยนแปลง”

อีกหัวข้อหนึ่งที่ทำให้ชั้นเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียนมัธยม รร.สาธิต มธ. คึกคักมากคือหัวข้อ “คนไทยมาจากไหน” ซึ่งเป็นบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่สนุกมากตามความเห็นของ อ.ปฏิพัทธ์ และเป็นหัวข้อที่ตอบโจทย์แนวการสอนของโรงเรียนที่อยู่บนหลักการว่า “ถ้าคุณมีข้อเสนอ คุณต้องมีหลักฐาน”

อ.ปฏิพัทธ์เล่าบรรยากาศการเรียนว่า หลังจากอาจารย์ผู้สอนนำเสนอแนวคิดหลัก ๆ ว่าด้วยเรื่อง “คนไทยมาจากไหน” พร้อมทั้งข้อมูลสนับสนุนแนวคิดนั้น ๆ ให้นักเรียนฟังแล้ว ก็เปิดให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และอภิปรายว่าเชื่อแนวคิดไหนเพราะอะไร บางคนอาจจะเชื่อแนวคิดที่อ้างอิงหลักฐานจากดีเอ็นเอ บางคนเชื่อทฤษฎีจากหนังสือเล่มอื่น ๆ

ที่มาของภาพ, Smitanan Yongstar/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

บรรยากาศที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เดี๋ยวนี้เด็กเชื่อการใช้ดีเอ็นเอเป็นข้อพิสูจน์ เพราะเขาอยู่ในโลกที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวบอกเหตุผล เราไม่ได้สอนว่าคนไทยมาจากไหนในแบบที่ต้องการเชิดชูความยิ่งใหญ่ของชาติมาเป็นเรื่องแรก”

อ.ปฏิพัทธ์เล่าต่อว่า เนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ที่เรียนนั้นไม่ได้ตายตัว แต่สามารถปรับได้ตามความสนใจของนักเรียนเอง อย่างเช่นประวัติศาสตร์สงครามโลก ซึ่งอยู่ในบทเรียนพื้นฐาน แต่พบว่ามีนักเรียนชายจำนวนไม่น้อยที่สนใจเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ บางคนรู้จักรุ่นเครื่องบินรบและยุทธวิธีที่ใช้ในการรบ อาจารย์จึงขยายเนื้อหาให้ครอบคลุมมุมอื่น ๆ ของสงคราม ทั้งความสูญเสีย ความก้าวหน้าที่เป็นผล เพื่อให้เกิดความรอบด้าน

“ถ้าเราเชื่อว่าประวัติศาสตร์มันเล่าต่างกันได้ เป็นเรื่องเล่าที่คนมองจากจุดยืนที่ต่างกัน เราก็อาจจะยอมรับได้ว่ามันมีวิธีการสอนประวัติศาสตร์ได้หลายแบบ” อ.ปฏิพัทธ์ให้ความเห็น

ศ.ดร.ธงชัยเสนออะไร

ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เปิดเผยว่า รร.สาธิต มธ. ได้เชิญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล มาเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ศ.ดร.ธงชัยได้นำเสนอรายงานเรื่อง “โครงการพัฒนากรอบเนื้อหาและแนวทางการจัดการเรียนการสอน วิชาประวัติศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารของโรงเรียน ซึ่ง ผศ.ดร.อดิศร ได้สรุปประเด็นสำคัญจากรายงานของ ศ.ดร.ธงชัย นำมาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ดังนี้

  • การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นประเด็นถกเถียงกันทั้งโลก เพราะมักถูกวิจารณ์และล้อเลียนว่าน่าเบื่อ เล่าแต่รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว วิธีเรียนดังกล่าวล้มเหลวที่จะชวนให้นักเรียนเข้าใจเรื่องราว เสริมทักษะวิพากษ์วิจารณ์ สนใจหรือสนุกไปกับประวัติศาสตร์
  • แม้ว่าจะมีครูจะพยายามสรรค์สร้างวิธีให้น่าสนใจ แต่ก็มักจะพบปัญหาว่าจะเลือกสรรสาระเนื้อหาตอนใด จะเน้นเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ทั้งต้องเผชิญปัญหาว่าจะลดทอนละทิ้งเรื่องราวของความรักชาติที่แฝงมากับเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ซึ่งก็มิได้เที่ยงตรงหรือถูกต้องสักเท่าไร
  • ในประเทศไทยก็มีข้อคิดเห็นถกเถียงว่าการสอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนน่าเบื่อและล้มเหลว แต่อธิบายเหตุผลของความล้มเหลวไปคนละทิศทาง มีทั้งผู้ที่เห็นว่าวิชานี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติแต่ยังทำได้ไม่ดีพอ บ้างเห็นตรงกันข้ามว่าปลูกฝังแต่ความรักชาติอย่างคับแคบ ไม่ช่วยให้เข้าใจอดีตอย่างรอบด้านหลายมุมมอง
  • เมื่อเกิดความขัดแย้งทางทางความคิดความเชื่อ ผู้มีอำนาจจึงมักเห็นว่าปัญหาอยู่ที่การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนและต้องการแก้ตรงนั้น ทั้งการปรับหลักสูตร ปรับเนื้อหาสาระ ปรับโครงสร้างของหลักสูตร

ที่มาของภาพ, Facebook/โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำบรรยายภาพ,

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นำเสนอรายงานเรื่อง “โครงการพัฒนากรอบเนื้อหาและแนวทางการจัดการเรียนการสอน วิชาประวัติศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

อ.ปฏิพัทธ์ ซึ่งได้เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ศ.ดร.ธงชัยในวันนั้นด้วย สนับสนุนข้อเสนอของ ศ.ดร.ธงชัย เกี่ยวกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่ว่าไม่ควรแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากสังคมศึกษา และต้องเรียนควบคู่ไปกับวิชาการใช้ภาษา เพราะเป้าหมายการเรียนสังคมศึกษาที่ทั่วโลกยอมรับ คือการเตรียมความพร้อมของพลเมืองให้อยู่ร่วมในสังคมประชาธิปไตยได้ และต้องการคนที่มีวิจารณญาณ คิดอย่างมีเหตุผล

“เครื่องมือในการถ่ายทอดเหตุผลความคิดของคนก็คือภาษา เด็กต้องฝึกการใช้ภาษาและการใช้เหตุผล ข้อเสนอของเขาคืออะไร มีอะไรมาสนับสนุน จะโต้แย้งยังไง ทั้งหมดนี้มันใช้ภาษาหมดเลย”

และในฐานะอาจารย์ผู้สอนคนหนึ่ง เขาสะท้อนว่าการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียน ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เพราะครูส่วนใหญ่ล้วนเจออุปสรรคใหญ่ที่เหมือนกัน คือ เนื้อหาที่เยอะเกินกว่าจะสอนได้ครบถ้วนตามที่กำหนด

“ถ้าเชื่อใจครูประวัติศาสตร์ในการเลือกเนื้อหา การเรียนประวัติศาสตร์อาจจะดีขึ้นก็ได้” เขาให้ความเห็นทิ้งท้าย

-- advertisement --