-- advertisement --
ภาพ:www.tpipolenepower.co.th

สภาพัฒน์ฯส่อโยนผ้าขาว ส่วนราชการรุมกินโต๊ะ เวทีรับฟังความคิดเห็นขับเคลื่อน โครงการ เมืองต้นแบบ จะนะฯไม่คืบ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้เปิดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดกรอบการจัดทำการประเมิน สิ่งแวดล้อมระดับยุทธ์ศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ ครม. มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปร่วมกันจัดให้มี การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ทั้งนี้ในเวทีมี นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนพื้นที่เข้าร่วมประชุมหลายหน่วยงาน

รายงานข่าวแจ้งว่าบรรยากาศการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้างต้น เป็นไปอย่างดุเดือดและมีข้อคำถาม ข้อสงสัยที่ผู้แทนสภาพัฒน์ฯ ไม่สามารถอภิบาย หรือ ให้คำตอบกับที่ประชุมฯ ได้อย่างชัดเจนเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง กรอบการศึกษาที่นำเสนอในวันนี้ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ไม่มีสาระสำคัญที่จะพิจารณา หลังเข้าสู่เดือนที่ 3 ที่ ครม. มีมติ รวมทั้ง ยังไม่มีความชัดเจนว่า การทำ SEA จะนำไปสู่การได้ข้อยุติเพื่อแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ทั้งที่เป็นกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้าน ได้หรือไม่, สิ่งใด คือ การยอมรับของทุกฝ่าย เป็นแนวทางและมาตรการใด, กรอบระยะเวลาการทำงานที่ไม่สามารถกำหนดห้วงเวลา การทำงานได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ให้เหตุผลว่าโครงการพัฒนาที่มีความขัดแย้ง มักจะดำเนินการได้ยาก และ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ผลการศึกษาไม่สามารถดำเนินการให้เป็นข้อยุติทุกฝ่าย ซึ่งการดำเนินการที่ไม่มีความชัดเจนนำไปสู่การสร้างความเสียหายทั้งกรณีของส่วนราชการ เนื่องจากหลาย ส่วนราชการปัจจุบันมีการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ จะนะ ไปแล้ว แต่จำเป็นจะต้องชะลอการทำงานทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการทำงานหลายเรื่องขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามปีงบประมาณตกไป

รวมถึงการเสียโอกาสของประชาชนที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาในพื้นที่สืบเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคใต้ตอนล่าง เช่น รายได้การท่องเที่ยว การค้าขาย ฯลฯ ติดลบ คนตกงาน เป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลยังไม่มีความพยายามในการสร้างแหล่งงานใหม่ให้กับประชาชนพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาที่ขาดการทลงทุนขนาดใหญ่ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากว่า 30 ปีแล้ว

ในขณะที่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมลงประชุมฯระบุว่า การลงทุนทั้งหมดในการพัฒนาเป็นเรื่องของเอกชนที่มีความพร้อม เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลเสนอให้มีการทำ SEA และจะใช้บังคับต่อภาคเอกชนให้ต้องดำเนินการตามผลการศึกษานั้น หากดำเนินการในพื้นที่แห่งนี้ ก็ขอให้นำไปใช้ในการพัฒนาการลงทุนของภาคเอกชนรายอื่นนอกพื้นที่ด้วยไม่ให้ เกิดการเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐานการทำงานเพราะการลงทุนงบประมาณและทรัพยากรเป็นของเอกชน รัฐควรจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยรัฐบังคับวิถีให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนา อย่างเต็มที่และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ข่าวแจงว่าก่อนปิดการประชุมฯ ประธานฯ ได้บอกกล่าวกับที่ประชุมฯ และสร้างความประหลาดใจ ว่าสภาพัฒน์ฯ ไม่ได้อยากทำเรื่องแบบนี้ ทั้งที่ในวันรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น สภาพัฒน์ฯ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญตัวตั้งตัวตีสำคัญและ กำลังจะออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการศึกษา SEA ต่อโครงการพัฒนาของรัฐ

QR Code LINE @Matichon



LINE @Matichon

-- advertisement --