หน้าแรก แวดวงการศึกษา การเหยียดผิว : เด็กผิวดำลูกผู้อพยพจากแถบแคริบเบียนที่ถูกส่งไป “โรงเรียนพิเศษ” ในอังกฤษยุค 70

การเหยียดผิว : เด็กผิวดำลูกผู้อพยพจากแถบแคริบเบียนที่ถูกส่งไป “โรงเรียนพิเศษ” ในอังกฤษยุค 70

-- advertisement --

Noel Gordon, ESN student

ที่มาของภาพ, Lyttanya Shannon/Rogan Productions

คำบรรยายภาพ,

โนล เป็นอดีตนักเรียนโรงเรียนอีเอ็สเอ็น

ในช่วงทศวรรษ 60 และ 70 มีเด็กผิวดำหลายร้อยคนในสหราชอาณาจักรที่ถูกนิยามว่า “มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปกติ” (educationally subnormal) และถูกละเมิดสิทธิด้วยการส่งไปเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กที่ถูกมองว่า “ด้อยสติปัญญา”

ตอนนี้พวกเขาหลายคนออกมาเปิดเผยเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในสารคดีชิ้นใหม่ของบีบีซีที่ชื่อ “Subnormal: A British Scandal”

ย้อนไปในทศวรรษ 70 ขณะอายุได้ 6 ขวบ โนล กอร์ดอน ถูกส่งไปโรงเรียนประจำที่รู้จักกันในตอนนั้นว่า “มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปกติ” หรือ อีเอสเอ็น (educationally subnormal-ESN) ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเขาไป 24 กิโลเมตร

โรงเรียนนั้นคือนรก” โนล เล่า “ผมอยู่ที่นั่น 10 ปี และพอออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ปี ผมไม่สามารถหางานได้เลย เพราะว่าสะกดคำไม่ได้ และไม่สามารถกรอกใบสมัครได้”

หนึ่งปีก่อนที่จะเข้าเรียนอีเอสเอ็น โนลไปทำฟันที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อหมอให้ยาชา เขาเกิดอาการแพ้รุนแรงจากโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell anaemia) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พ่อแม่เขาเองก็ไม่รู้ว่าลูกเป็น

โนล เล่าว่า ผลกระทบทางสุขภาพจากอาการนั้นทำให้เขาถูกมองว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ และได้รับคำแนะนำให้ไป “โรงเรียนพิเศษ” แต่พ่อแม่เขาไม่เคยได้รับหลักฐานหรือคำอธิบายเรื่อง “ความพิการ” ของเขาเลย

“มีคนมาหาแล้วก็บอกว่าเจอ “โรงเรียนประจำพิเศษ” ที่มีผู้ดูแล และเป็นสถานที่ที่จะให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์กับผมได้ด้วย” โนล กล่าว บทสนทนาในวันนั้น มีคำว่า “โง่เง่า” หลุดออกมาด้วย

แต่พ่อแม่โนล ไม่รู้เลยว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนของผู้ “มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปกติ” พวกเขาเพิ่งอพยพจากจาเมกามาอังกฤษ และก็หวังไว้มากว่าลูกจะได้รับการศึกษาที่ดี

ที่มาของภาพ, Noel Gordon

คำบรรยายภาพ,

โนล ตอนเด็ก

คืนแรก โนลนอนร้องไห้และคิดถึงแม่ ในห้องเรียน เขาโดนเพื่อนล้อเลียนเรื่องเชื้อชาติและครูก็ไม่ได้ว่าอะไร “โรงเรียนพิเศษ” นี้ ไม่ได้ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนแบบปกติ โนล ได้รับสมุดมาไว้เขียนแต่ก็ไม่มีใครสอนหลักภาษาหรือการสะกดให้เขา เขาบวกลบเลขง่าย ๆ เป็น แต่เวลาส่วนใหญ่ในชั้นเรียนหมดไปกับการทำงานฝีมือกับเล่นเกม

พ่อเขาเพิ่งมารู้ว่าจริง ๆ แล้วโรงเรียนนี้เป็นอย่างไรตอนที่ต้องไปเยี่ยมที่โรงเรียนเป็นครั้งแรกเพราะโนลโดนเด็กที่โตกว่าต่อยเข้า

พ่อเขาบอกครูว่า “นี่มันโรงเรียนสำหรับเด็กพิการนี่” ขณะที่ครูตอบกลับมาว่า พวกเขาเลือกที่จะนิยามว่าเป็นโรงเรียนสำหรับ “เด็กที่เรียนรู้ช้า” มากกว่า

การค้นพบนี้ทำให้พ่อเขาใจสลายแต่ก็รู้สึกว่าไม่มีอำนาจจะไปแก้ไขอะไรได้ โนล ไม่ได้มีโอกาสสอบและได้ใบประกาศคุณวุฒิใด ๆ เขาบอกว่าการถูกตีตราว่ามีระดับการศึกษาต่ำกว่าปกติทำให้เขารู้สึกด้อยไปตลอดชีวิต และทำให้เขามีปัญหาทางจิตใจ

สารคดีเรื่องนี้ของบีบีซีบอกเล่าเรื่องราวว่าพ่อแม่เด็กเหล่านี้ ครูบาอาจารย์ และนักเคลื่อนไหว รวมตัวกันเรียกร้องเพื่อปฏิรูประบบการศึกษาสำเร็จได้อย่างไร

นักเคลื่อนไหวด้านการศึกษา ศาสตราจารย์กัส จอห์น ซึ่งอพยพจากเกรเนดามาอังกฤษในปี 1964 บอกว่า เด็กจากโรงเรียนอีเอสเอ็นจะไม่ได้ไปเรียนต่อระดับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย “ถ้าโชคดีก็จะได้กลายมาเป็นแรงงาน คำนิยามนั้นทำลายความรู้สึกมั่นใจและความทะเยอทะยานในตัวเด็กไปหมด”

ที่มาของภาพ, Lyttanya Shannon/Rogan Productions

คำบรรยายภาพ,

ศาสตราจารย์กัส จอห์น

โรงเรียนอีเอ็สเอ็นระดับอนุบาลและประถมให้นิยามเด็กในสังกัดว่าเป็นผู้ที่มีความพิการด้านการเรียนรู้ในระดับกลาง มีความพิการในการเรียนรู้ระดับรุนแรง ไปจนถึง “ไม่สามารถสอนได้” แต่ทั้งครูหรือนักจิตวิทยาไม่เคยให้เหตุผลอย่างมีน้ำหนักชัดเจนเลยว่าเกณฑ์สำหรับเด็กที่ควรต้องไปโรงเรียนแบบนี้คืออะไร

สัดส่วนเด็กผิวดำถูกส่งไปโรงเรียนแบบนี้สูงผิดปกติ สารคดีชิ้นนี้พบว่ามีเด็กผิวดำในโรงเรียนนี้คิดเป็นสัดส่วน 28% แต่ที่ไปโรงเรียนทั่วไปมีเพียง 15%

คำถามคือว่าทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้

ข้อมูลจากช่วงทศวรรษ 60 และ 70 ระบุว่าเด็กผิวดำมีความสามารถทางวิชาการต่ำกว่าเด็กผิวขาว นี่ยิ่งตอกย้ำความเชื่อผิด ๆ ในตอนนั้นว่าเด็กผิวดำมีสติปัญญาด้อยกว่าเพื่อนผิวขาว

คนที่มีส่วนผลักดันสำคัญให้ความคิดผิด ๆ นี้แพร่หลายคือ ฮานส์ อายเซนค์ อดีตศาสตราจารย์ประจำสถาบันจิตเวชศาสตร์ แห่งคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน เขาอ้างงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กผิวดำจะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กผิวขาวอยู่ 12 หน่วย

ด้วยเหตุนี้ ครูบาอาจารย์ในตอนนั้นกลัวว่าถ้ามีนักเรียนผิวดำมากไป จะยิ่งทำให้มีนักเรียนผิวขาวมาเข้าเรียนน้อยลง และหลังจากพ่อแม่เด็กผิวขาวเคลื่อนไหวประท้วงในปี 1965 รัฐบาลออกข้อแนะนำให้จำกัดนักเรียนที่เป็นเด็กอพยพไว้แค่ 30% โดยอ้างว่าเด็กเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือทางสังคม ภาษา และการแพทย์เป็นพิเศษ

ผลที่ตามมาคือ มีการกำหนดนโยบายในระดับท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ส่งลูกผู้อพยพไปโรงเรียนนอกพื้นที่เพื่อพยายามจำกัดจำนวน แต่นโยบายนี้ก็สิ้นสุดไปในที่สุดในปี 1980

นักจิตวิทยาด้านการศึกษาผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง มอลลี ฮันต์ บอกว่าไม่ใช่สติปัญญาของเด็กผิวดำสู้ไม่ได้ แต่แบบทดสอบที่ใช้เต็มไปด้วยอคติด้านวัฒนธรรม

กัส จอห์น อธิบายประเด็นนี้เพิ่มเต็มโดยยกตัวอย่างว่า แบบทดสอบมีคำศัพท์ หรือสิ่งที่อ้างอิงถึง ในแบบที่เด็กที่เพิ่งอพยพมาจากประเทศในแถบแคริบเบียนไม่คุ้นชิน และเวลาอยู่บ้าน เด็กเหล่านี้ก็ใช้ภาษาอังกฤษในแบบที่ผสมกับภาษาท้องถิ่นด้วย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

โรงเรียนแบบปกติในกรุงลอนดอนในยุค 70

นอกจากนี้ เด็กเหล่านี้ต้องปรับตัวกับชีวิตใหม่ อาจมีความสะเทือนใจจากการต้องพลัดพรากจากคนในครอบครัว เช่น ปู่ย่าตายายมาด้วย

กัส จอห์น บอกว่า การเรียนรู้ที่เป็นไปด้วยความยากลำบากของเด็กเหล่านี้ถูกเหมาเอาว่าเป็นความพิการ และพวกเขาก็ถูก “กำจัด” ด้วยการส่งไปโรงเรียนอีเอสเอ็น

ในที่สุด โนล ก็ได้รับโอกาสให้กลับเข้าไปโรงเรียนธรรมดาในบางวันแบบเด็กทั่วไป แต่นั่นก็สายไปแล้ว

“ที่โรงเรียนระดับมัธยมที่ผมไปเป็นบางวัน ผมเลือกที่จะโดดเรียนเพราะกลัวไม่มีเพื่อน และก็เพราะอ่านหนังสือไม่ออก”

เมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่ผู้อพยพก็เริ่มเข้าใจปัญหานี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเห็นลูก ๆ ที่แทบจะอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ นี่นำไปสู่การรวมตัวเรียกร้องสิทธิ รวมถึงการตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อ “How the West Indian Child is Made Educationally Subnormal in the British School System” ที่เปิดโปงว่าระบบการศึกษาในสหราชอาณาจักรทำให้เด็กผู้อพยพกลายเป็นผู้มีระดับการศึกษาต่ำกว่าได้อย่างไร

คำบรรยายภาพ,

ในช่วงหนึ่ง มีการกำหนดนโยบายในระดับท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ส่งลูกผู้อพยพไปโรงเรียนนอกพื้นที่เพื่อพยายามจำกัดจำนวน

เบอร์นาร์ด โคอาร์ด เป็นผู้เขียนหนังสืออันทรงอิทธิพลนี้ ชาวเกรเนดาผู้นี้ได้มีโอกาสไปเป็นครูในโรงเรียนอีเอสเอ็น และสังเกตเห็นว่าสัดส่วนของเด็กที่อพยพมาจากประเทศแถบแคริบเบียนมีสูงมาก

เขาบอกว่าหน่วยงานด้านการศึกษาใช้โรงเรียนอีเอสเอ็นเป็นเหมือน “ที่ทิ้งขยะ” และครูบาอาจารย์ในตอนนั้นเข้าใจผิดว่าบาดแผลจากการต้องอพยพย้ายถิ่นเป็นความไร้สติปัญญา

หนังสือเล่มนี้สร้างอิทธิพลจนทำให้เกิดโรงเรียนพิเศษวันเสาร์ที่พ่อแม่ผิวดำจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ นอกจากสอนหลักสูตรทั่วไปแล้ว ยังสอนเรื่องประวัติศาสตร์ของคนผิวดำ ทำให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง และสามารถสอบเอาวุฒิและก็ไปสมัครงานได้ในที่สุด

ที่มาของภาพ, Lyttanya Shannon/ Rogan Productions

คำบรรยายภาพ,

เบอร์นาร์ด โคอาร์ด มีโอกาสไปเป็นครูในโรงเรียนอีเอสเอ็น และสังเกตเห็นว่าสัดส่วนของเด็กที่อพยพมาจากประเทศแถบแคริบเบียนมีสูงมาก

ผลของการเคลื่อนไหวและกดดันหลายปีคือพระราชบัญญัติการศึกษาปี 1981 ที่กำหนดเป็นกฎหมายว่าเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และให้มีการยกเลิกคำว่า “มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปกติ”

รายการจากการสืบสวนหาความจริงโดยรัฐบาลเมื่อปี 1985 พบว่า ระดับไอคิวที่ต่ำของเด็กอพยพจากประเทศในหมู่เกาะเวสต์อินดีสไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้พวกเขาผลการเรียนไม่ดี แต่เป็นความอคติทางเชื้อชาติต่างหากที่ทำให้เขาเรียนไม่ได้ดีเท่า

แต่สำหรับโนล ผลกระทบจาก “โรงเรียนพิเศษ” ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน

โนลพบว่าเขาชอบที่จะเรียนรู้ และเรียนจนได้ใบประกาศหลายใบ รวมถึงปริญญาด้านคอมพิวเตอร์ด้วย อย่างไรก็ดี เขาก็ยังอ่านเขียนด้วยความยากลำบากอยู่

โรงเรียนอีเอ็สเอ็นนั้นทำให้ชีวิตผมพังไปหมด”

-- advertisement --