-- advertisement --

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการบรรยายหัวข้อ ‘ครูบาศรีวิชัยกับการเมืองสมัยใหม่ในล้านนา’ ซึ่งเป็นการบรรยายครั้งแรกในชุดโครงการเสวนาวิชาการ ‘รัฐ ศาสนา และการเมือง’ โดยมี แคเธอรีน บาววี (Katherine A. Bowie) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้บรรยาย

แคเธอรีน บาววี เป็นนักวิชาการที่มีงานวิจัยในประเด็นเรื่องการเมือง วัฒนธรรม และความเชื่อของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะภาคเหนือ (เชียงใหม่) ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาภาคสนามของบาววีตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หนังสือเล่มสำคัญของบาววี ได้แก่ Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in Thailand (1997) ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาอันรุ่มรวยด้วยข้อมูลจากกลุ่มลูกเสือชาวบ้านหรือ ‘ฝ่ายขวา’ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ดูเหมือนว่าความสนใจทางวิชาการในระยะหลังๆ ของบาววีจะเป็นการศึกษาเรื่องศาสนาพุทธกับความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น เช่น Of Beggars and Buddhas: The Politics of Humor in the Vessantara Jataka in Thailand (2017) วิเคราะห์การเทศน์มหาชาติหรือการ ‘ตั้งธรรมหลวง’ ตามภาษาท้องถิ่นเหนือ ซึ่งมีรูปแบบและเนื้อหาเชิงตลกเสียดสี และงานวิจัยเรื่อง Khruba Srivichai: From Sacred Biography to National Historiography ซึ่งเป็นการศึกษาประวัติ ‘ครูบาศรีวิชัย’ พระเถระชื่อดังจากล้านนา

จากการค้นคว้ามาระยะเวลาหนึ่ง บาววีค้นพบว่าการศึกษาประวัติชีวิตของครูบาศรีวิชัยอย่างละเอียดจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของล้านนาในอดีต นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นกระบวนการก่อรูปของรัฐ-ชาติสมัยใหม่ (nation-state) ของไทยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และยังสะท้อนว่ากระบวนการดังกล่าวส่งผลต่อชีวิตคนในท้องถิ่นอย่างมาก จนเกิดความไม่พอใจ ต่อต้าน ขัดขืน กระทั่งยอมสยบอย่างไม่สู้เต็มใจนักในที่สุดได้อย่างไร

ชีวิตของครูบาศรีวิชัยจะสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ศาสนา และการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าวได้อย่างไร มาร่วมติดตามไปกับการบรรยายของแคเธอรีน บาววี

พระอุปัชฌาย์เถื่อน ผู้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐไทย

แคเธอรีน บาววี เริ่มต้นบรรยายว่า หากศึกษาประวัติชีวิตของครูบาศรีวิชัยอย่างละเอียดมากขึ้นจะทำให้เราเข้าใจกระบวนการก่อรูปของรัฐไทยสมัยใหม่ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการเขียนประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์นิพนธ์) แบบทางการนั้นมักเลือกจดจำและหลงลืมบางสิ่งบางอย่าง เพื่อสร้างภาพของรัฐชาติที่มีความผาสุกและกลมเกลียว (happy nation-state)

ภาพจำของครูบาศรีวิชัยจึงเปลี่ยนแปลงไป จากคณะสงฆ์ชายขอบที่ถูกคณะสงฆ์ส่วนกลางควบคุม กลายเป็นเพียงหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่มีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลโชคลาภ ความร่ำรวย สุขภาพ เป็นต้น สำหรับบาววี นี่คือความพยายามในการเบียดขับ ลบล้าง และกลืนกลายความเป็นอื่นหรือชายขอบของส่วนกลาง ทั้งๆ ที่คนล้านนาในอดีตไม่เต็มใจจะยอมรับอำนาจของสยามเท่าไหร่นัก

“ถ้าถามว่าประเทศไทยเป็น nation-state (รัฐชาติสมัยใหม่) เมื่อไหร่ คนทั่วไปมักจะตอบว่า ในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อมณฑลพายัพถูกผนวกรวมเข้ากับอาณาจักรสยามในปี 2443 แต่ที่จริงแล้วในขณะนั้นราษฎรท้องถิ่นยังไม่มีจิตสำนึกว่าเขาเป็นพลเมืองที่ขึ้นต่อสยามหรอก ดิฉันจะขอเสนอว่า ประเทศไทยเป็น nation-state ในวันที่ 21 เมษายน 2479 เพราะเป็นวันที่ครูบาศรีวิชัยถูกบังคับให้สยบยอมต่อคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ” บาววีกล่าว

ครูบาศรีวิชัย (พ.ศ. 2421-2482) เป็นพระเกจิที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากประชาชนในภาคเหนือจำนวนมาก จนได้ชื่อว่า ‘เจ้าตนบุญ’ หรือนักบุญแห่งล้านนา เกิดปี พ.ศ. 2421 (ปีขาล) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในขณะกำลังตกฟากมีพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง บิดามารดาจึงตั้งชื่อว่า ‘อินตาเฟือน’ อันมีนัยถึงสายฟ้าของพระอินทร์

เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มน้อย ท่านบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านปาง เพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดา และได้ศึกษาเล่าเรียนกับครูบาขัตติยะ เมื่อสามเณรอินตาเฟือนมีอายุย่าง 21 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน ได้รับฉายานามว่า ‘สิริวิชโยภิกฺขุ’ หรือ ‘พระศรีวิชัย’

พระศรีวิชัยมีโอกาสศึกษาธรรมะ กัมมัฏฐาน และวิชาอาคมจากครูบาเก่งๆ หลายรูป ทั้งยังมีจริยวัตรงดงามและเคร่งครัด งดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ งดการฉันเนื้อสัตว์ เป็นต้น จนในที่สุดก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง หลังครูบาขัตติยะมรณภาพ

จารีตการปกครองคณะสงฆ์ของล้านนาใช้ระบบ ‘หัวหมวดวัด’ ซึ่งพระอุปัชฌาย์หรือหัวหมวดรูปหนึ่งจะมีวัดอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่ง และให้ความสำคัญแก่ระบบอาจารย์กับลูกศิษย์ในสำนัก โดยเจ้าหมวดอุโบสถนี้คัดเลือกมาจากพระเถระอาวุโสที่ได้รับความเคารพนับถือในท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นครูบาศรีวิชัยที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นจึงมีตำแหน่งหัวหมวดควบคู่กันไปด้วย ท่านจึงมีสิทธิ์ตามจารีตล้านนาในการเป็นพระอุปัชฌาย์ที่ทำการบวชให้ลูกหลานชาวบ้านได้

แต่เมื่อส่วนกลางออกพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ในปี พ.ศ. 2445 ซึ่งบัญญัติให้พระอุปัชฌาย์ต้องมาจากการแต่งตั้งของคณะสงฆ์ส่วนกลางเท่านั้น โดยผ่านการคัดเลือกของเจ้าคณะแขวง แล้วนำชื่อเสนอเจ้าคณะใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้แต่งตั้งอีกที ทำให้ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวว่าเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน บวชให้ชาวบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จึงจับกุมตัวท่านในฐานะขัดคำสั่ง ตั้งตนเป็นผีบุญ อวดอ้างอิทธิฤทธิ์เกินจริง แล้วนำมาขังไว้ในวัดลี้หลวงก่อนจะส่งต่อไปยังวัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติของคณะสงฆ์กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม การจับกุมตัวครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านและลูกศิษย์ที่เคารพรักครูบาศรีวิชัยโกรธเคือง จนพากันถืออาวุธไปห้อมล้อมที่คุมขัง เพื่อบีบให้ปล่อยตัว เจ้าหน้าที่เกรงจะควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ จึงตัดสินใจส่งตัวครูบาศรีวิชัยไปยังเชียงใหม่ กระทั่งพระองค์เจ้าบวชเดช เจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น ส่งท่านเข้ากรุงเทพฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส หรือสมเด็จพระสังฆราชขณะนั้น ตัดสินคดีความในปี 2463

ผลปรากฏว่าคณะสงฆ์กรุงเทพฯ เห็นว่าคณะสงฆ์ทางเหนือลงโทษครูบาศรีวิชัยหนักเกินไป และข้อกล่าวหาหลายข้อไม่เป็นความจริง เช่น การอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ การไม่จัดงานเฉลิมฉลองตกแต่งวัดเพื่อแสดงความจงรักภักดีในงานขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 ฯลฯ จึงส่งตัวกลับภาคเหนือพร้อมแถมค่าโดยสารรถไฟ

ช่วงเวลานี้เองที่ครูบาศรีวิชัยกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและริเริ่มฟื้นฟูบูรณะศาสนสถานทั่วภาคเหนือกว่า 100 แห่ง อาทิ วัดพระสิงห์ วัดสวนดอก และที่สำคัญคือสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งระดมพลังราษฎรผู้มีจิตศรัทธาในตัวท่านจำนวนมากมาช่วยสร้างโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย ทว่าก็เป็นช่วงเวลานี้อีกเช่นกันที่ท่านถูกควบคุมตัวไปสอบสวนอีกคำรบในปี 2478 ซึ่งครั้งนี้กินระยะเวลานานเกือบ 1 ปี

ครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวลงมากักไว้ที่กรุงเทพฯ และถูกกล่าวหาจากรัฐว่าไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์ โดยมีข้อกล่าวหาว่า 1) จัดอุปสมบทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะ 2) ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เอง (เถื่อน) 3) ออกใบสุทธิและหนังสือตราตั้งคณะตนเอง 4) ก่อสร้างบูรณะโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลป์ ไม่อนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิม 5) ยุยงให้พระสงฆ์ออกจากการปกครองของรัฐ

เมื่อถึงตรงนี้ บาววีก็ชวนตั้งคำถามว่า ข้อกล่าวหาที่ครูบาศรีวิชัยต้องเผชิญทั้ง 2 ครั้ง แทบจะไม่ต่างกันเลย ทั้งๆ ที่ครั้งหลังเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งเอนเอียงไปทางพระมหานิกายที่เป็นลูกหลานชาวบ้านและต้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากกว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงก่อนหน้า ซึ่งเอนเอียงไปทางพระสายธรรมยุติ

บาววีจึงยิงคำถามว่า “สรุปแล้วนี่เป็นความขัดแย้งในคณะสงฆ์ระหว่างสายธรรมยุติกับมหานิกาย หรือที่จริงแล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับรัฐส่วนกลางโดยตรงกันแน่”

เมื่อกระบวนการก่อรูปรัฐสมัยใหม่เบียดขับความเป็นท้องถิ่น: เหตุผลแท้จริงที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์

แม้ปัจจุบันจะมีงานเขียนเชิงวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลักและหันมายกย่องครูบาศรีวิชัยในฐานะผู้ต่อต้านส่วนกลางมากขึ้น แต่บาววีชี้ว่างานเหล่านั้นมักอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างคณะสงฆ์ด้วยกัน กล่าวคือ เป็นความไม่ลงร่องลงรอยระหว่างคณะสงฆ์ภาคกลางกับคณะสงฆ์ท้องถิ่นอันเป็นผลมาจากการประกาศ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งบาววีมองว่าข้อเสนอนี้ไม่มีน้ำหนักมากพอ

“ดิฉันจะเสนอว่าประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ (กฎหมาย) ร.ศ. 121 เพราะ ข้อแรก กฎหมายที่ว่านั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ในมณฑลพายัพจนกว่าจะถึงปี 2469 และเขาก็เคยถูกสอบสวนว่าไม่มีความผิดไปแล้วหนหนึ่ง ข้อสอง กฎหมายฉบับนั้นไม่ได้พูดถึงการบวชพระเลย และข้อสาม เราได้เห็นแล้วว่าคณะสงฆ์กรุงเทพฯ ก็ให้การสนับสนุนครูบาศรีวิชัยพอสมควร”

บาววีเสนอว่า ปัญหาที่แท้จริงเกิดขึ้นระหว่างความเป็นท้องถิ่นอันมีครูบาศรีวิชัยเป็นตัวแทน กับกระบวนการสร้างชาติของรัฐไทยสมัยใหม่ ซึ่งต้องการรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย (homogenization) ให้กลมกลืนเป็นคนชาติเดียวกัน ครูบาศรีวิชัยในฐานะผู้นำด้านจิตวิญญาณ ด้านความเชื่อ และด้านการศึกษาที่แปลกปลอมจากแนวทางของส่วนกลาง จึงเป็นหนามยอกอกที่รัฐบาลยอมให้มีอิทธิพลต่อไปไม่ได้และต้องสยบให้สิ้นอำนาจลง

บาววีวิเคราะห์บริบทของการต้องอธิกรณ์ (ข้อกล่าวหา) ทั้ง 2 ครั้งของครูบาศรีวิชัย ว่า การต้องอธิกรณ์ครั้งแรกนั้นคาบเกี่ยวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ตอนแรกฝ่ายสยามจะประกาศตนเป็นกลาง แต่ภายหลังก็ได้ประกาศเข้าร่วมสงคราม ในปี 2446 เราจึงเห็นว่า กรุงเทพฯ พยายามขยายกองพลทหารและกองกำลังเสือป่าของรัชกาลที่ 6 ไปตั้งที่เชียงใหม่ เพื่อเกณฑ์และฝึกฝนชาวบ้านให้เป็นทหารจำนวนมาก พร้อมการนำกฎหมายเกณฑ์ทหารมาใช้กับมณฑลพายัพครั้งแรกในปี 2456 (ประกาศใช้จากกรุงเทพฯ เมื่อปี 2448)

บาววีชี้ว่าปัญหาเกิดขึ้นเมื่อลูกหลานชาวบ้านไม่ต้องการเป็นทหารหรือถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน จึงเลือกบวชกับพระอุปัชฌาย์ท้องถิ่น โดยเฉพาะสายครูบาศรีวิชัย แต่ถึงแม้กฎหมายว่าด้วยระเบียบการบรรพชาและอุปสมบท ปี 2456 จะบัญญัติให้ ละเว้นพระสงฆ์จากการเกณฑ์ทหาร แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นพระที่ ‘รู้ธรรม’ เท่านั้น จุดนี้เองที่บาววีชี้ว่าเป็นปัญหาสำหรับพระล้านนา เพราะการสอบนักธรรมจากหลักสูตรส่วนกลางใช้ภาษาและตัวอักษรจากภาคกลาง แต่พระเหล่านี้รู้จักแค่ตัวอักษรล้านนา หรือ ‘ตัวเมือง’เท่านั้น จึงมักสอบไม่ผ่าน

นอกจากนี้ บาววียังแย้งว่า การบอกว่าครูบาศรีวิชัยและพระล้านนาตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์เอง โดยไม่สนใจบทบัญญัติแบบใหม่เลย เป็นข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างเกินจริง เพราะมีการบันทึกชัดเจนว่า ครูบาศรีวิชัยเคยส่งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านไปขอใบอนุญาตบวชให้กุลบุตรหลายครั้งหลายครา แต่ปรากฏว่านายอำเภอหรือทางการไม่เคยอนุมัติให้สักครั้ง เมื่อไม่อาจทนรอได้จึงดำเนินการบวชไปก่อน จนเป็นเหตุในภายหลังเมื่อทางการกรุงเทพฯ ระดมเจ้าหน้าที่ตระเวนไปตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือ เพื่อวัดหน้าอกของพระและสามเณรว่าโตพอจะเกณฑ์ทหารหรือยัง ทำให้พระและชาวบ้านในท้องถิ่นขุ่นเคืองอย่างมาก

พระในสำนักครูบาศรีวิชัยถูกบังคับสึกจำนวนมาก อาทิ ครูบาอภิชัยขาวปี ซึ่งถูกบังคับสึกหลายครั้งด้วยข้อหาว่าไม่ยอมเกณฑ์ทหาร บาววีจึงสรุปว่าจากกรณีดังกล่าวจะเห็นว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในคณะสงฆ์ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างพระท้องถิ่นกับอำนาจรัฐสมัยใหม่ที่ต้องการเกณฑ์พระไปเป็นทหาร

บาววียังอธิบายต่อไปว่า เหตุใดรัฐบาลคณะราษฎรจึงไม่พอใจครูบาศรีวิชัย จนนำไปสู่การต้องอธิกรณ์อีกหนในปี 2478 “เพราะในกระบวนการสร้างชาติ โครงการศึกษาภาคบังคับจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปล่อยให้ภาคเหนือยังคงประเพณีบวชเรียนอยู่ ผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างครูบาศรีวิชัยจึงต้องถูกนำตัวลงมาอยู่กรุงเทพฯ”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร พยายามสร้างชาติไทยให้มีความเป็นหนึ่งเดียวในทางวัฒนธรรม (cultural homogenization) ผ่านการแต่งตัวหรือผ่านการศึกษาภาคบังคับ ได้พยายามดึงบทบาทด้านการจัดการศึกษาจากวัดมาอยู่ในมือของโรงเรียนรัฐ อาทิ พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2478 ซึ่งให้เด็กเข้ารับการศึกษาพื้นฐานถึง ป.4 (แทนที่จะไปบวชเณร)

บาววีเห็นว่า “เราคิดว่านี่เป็นเรื่องดี แต่ในสายตาคนล้านนากลับไม่ใช่ เขาอยากให้ลูกเข้าเรียนที่วัด เรียนภาษา ‘กำเมือง’ เพื่อเข้าถึงคาถาและบทสวดต่างๆ ที่สอดคล้องกับความเชื่อ ความศรัทธาของเขา เราจึงเห็นการเผาโรงเรียนรัฐเกิดขึ้น นี่คือการปะทะกันของ sacred education (การศึกษาทางธรรม) กับ secular education (การศึกษาทางโลก)”

นอกจากนี้ บาววีอธิบายว่าปัจจัยทางการเมืองในขณะนั้นก็มีส่วนเสริมสร้างความขัดแย้งให้ทวีคูณ กล่าวคือ ในปี 2476 จะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในแผ่นดินสยาม คณะราษฎรยังคลางแคลงใจในจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนล้านนาว่า จะสนับสนุนฝ่ายตนหรือฝ่ายเจ้ากันแน่ เพราะในขณะนั้นเกิดการแย่งชิงมวลชนอย่างเข้มข้น ฝ่ายรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จไปเยือนวัดพระสิงห์ เพื่อเรียกคะแนนความนิยม มิหนำซ้ำ เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 และพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นชนชั้นเจ้านายและขั้วอำนาจเก่าในเชียงใหม่ก็มีบทบาทสำคัญในการก่อกบฏในปี 2476

ครูบาศรีวิชัยในฐานะศูนย์รวมจิตใจและผู้นำที่มีเครือข่ายกว้างจึงถูกจับตามอง ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเครือข่ายที่เป็นเจ้าล้านนาแล้ว ครูบายังมีสานุศิษย์เป็นกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ ตั้งแต่ชาวกะเหรี่ยง ไทยอง ไทใหญ่ ฉาน หรือคนจีน ซึ่งกินอาณาบริเวณกว้างขวางไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างรัฐฉานและเชียงตุง บาววีเสนอว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นที่หวาดระแวงของหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม ในขณะนั้น แทบทั้งสิ้น

เนื่องจากหลวงพิบูลสงครามไม่พอใจอิทธิพลของอังกฤษที่สยายปีกคลุมพม่า (และส่งมิชชันนารีมายังเชียงใหม่อยู่เนืองๆ) จึงหันไปแสวงหามิตรจากมหาอำนาจอื่นอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งมีปัญหาระหองระแหงกับจีน ดังนั้นเมื่อต้องเสียดินแดนให้อังกฤษและฝรั่งเศสมากขึ้น เกิดกบฏคนจีนในพม่า กบฏเงี้ยว และกบฏผู้มีบุญต่างๆ ทั่วหัวระแหง ครูบาศรีวิชัยจึงยิ่งกลายเป็นตัวอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐในสายตารัฐบาลคณะราษฎร เพราะเกรงว่าท่านจะนำคนในเครือข่ายต่อต้านอำนาจรัฐไทย

ทั้งหมดนี้เมื่อนับรวมปัจจัยด้านอื่นๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจที่ในขณะนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลก (The Great Depression) ช่วงปี พ.ศ. 2472-2482 ทำให้รัฐบาลต้องการเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ติดปัญหาคนหนีไปบวช หรือการลักลอบค้าฝิ่นเถื่อนจากเชียงตุงซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับครูบาศรีวิชัย จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเมื่อครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ถูกคุมขัง จนต้องสยบยอมด้วยการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร และพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ต้องสึกหาลาเพศ หรือไม่ก็หนีเข้าป่าหรือออกนอกประเทศไปกว่า 2,000 คน

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ไม่ใช่กฎหมายคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 เพียงอย่างเดียว แต่เป็น “กฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 กฎระเบียบการบวช พ.ศ. 2456 และกฎหมายประถมศึกษา พ.ศ. 2478 ซึ่งไม่เพียงบีบให้ (ล้านนา) ยอมขึ้นกับพระในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังต้องช่วยส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ดิฉันจึงเสนอว่า วันที่ 21 เมษายน 2479 ที่ครูบาศรีวิชัยยอมเซ็น ถือเป็นการเกิดขึ้นของ nation-state ที่แท้จริง”

จากสัญลักษณ์นักต่อสู้แห่งชายขอบสู่พระเกจิผู้ดลบันดาล: กระบวนการจดจำและหลงลืมของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย

แคเธอรีน บาววี กล่าวสรุปว่า ทุกวันนี้คนล้านนาโดยทั่วไปพยายามจะลืมการต้องอธิกรณ์ครั้งสุดท้ายนี้ เพราะเป็นความพ่ายแพ้ของครูบาศรีวิชัย แล้วเลือกจดจำแค่เพียงการต้องอธิกรณ์ครั้งแรกๆ ที่ลงเอยอย่างไร้มลทิน เพราะสอดคล้องกับประวัติศาสตร์นิพนธ์จากรัฐไทยที่ต้องสร้างพล็อตเรื่องแบบ happy nation-state

“คนล้านนารุ่นใหม่จะรับรู้แค่ว่ามีรูปปั้นอยู่ตีนดอยสุเทพ ไปขอลูก ขอหวย แค่นั้น”

ทุกวันนี้คนจึงเคารพบูชาครูบาศรีวิชัยในฐานะพระเกจิรูปหนึ่งที่ดลบันดาลให้เกิดลาภสักการะแก่ผู้ที่เคารพบูชา แต่ผลกระทบทางศาสนาที่ทำให้คณะสงฆ์และการปฏิบัติศาสนกิจของล้านนาที่ต่างจากภาคกลางแทบจะจมหายไปตามกาลเวลา อาทิ ขนบการสร้างพระพุทธรูปที่ต้องมีหัวใจหรือเครื่องใน การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของเขตวัด ไม่ให้มีคนตาย เผาศพ หรือเก็บเถ้ากระดูกในบริเวณวัด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม บาววียังให้ความหวังว่า มีคนล้านนาอีกไม่น้อยที่เชื่อมโยงตนเองกับความเจ็บปวดจากการกระทำของรัฐส่วนกลาง เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมีหลายคนเป็นลูกศิษย์ครูบาศรีวิชัย หรืออาจเป็นพระสงฆ์ในสำนักที่หนีการบังคับสึกเลยด้วยซ้ำ หรืออย่างอดีต ‘หลวงพ่ออินถา’ อินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทย ก็เคยกล่าวถึงครูบาตอนปลุกระดม (เขาถูกลอบสังหารในปี 2518) และที่สำคัญ กลุ่มคนเสื้อแดงทางภาคเหนือที่เคลื่อนไหวในช่วงต้นทศวรรษ 2550 ก็มีครูบาศรีวิชัยเป็นจุดยึดเหนี่ยวจิตใจ

“แม้กระทั่งทักษิณ ชินวัตร ก็เคยเอาครูบาศรีวิชัยขึ้นปกนิตยสาร Voice of Taksin ยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งก็รีบตรงไปไหว้ครูบาฯ ก่อน หรือกระทั่งหลังรัฐประหาร ก็มีการรวมกลุ่มประท้วงหน้ารูปปั้นที่ตีนดอยสุเทพ”

บาววีเสนอว่า นี่เป็นความพยายามในการเปลี่ยนภาพลักษณ์จากผู้พ่ายแพ้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับการสร้างรัฐสยาม ซึ่งทำให้ครูบาศรีวิชัยยังคงมีบทบาทต่อการเมืองสมัยใหม่ในล้านนาอย่างไม่เคอะเขิน ก่อนที่จะสรุปทิ้งท้ายการบรรยายว่า

“เราจะไม่เข้าใจการสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทยเลย หากไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของครูบาศรีวิชัย”

Author

ปิยนันท์ จินา

ปิยนันท์ จินา

หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

-- advertisement --