-- advertisement --

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ทุกข์ของคนไทย ใครช่วยได้” จาก 1,116 กลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 5 – 9 .ค. 2564 ที่ผ่านมา พบส่วนใหญ่ร้อยละ 67.4 ทุกข์ใจเงินรายได้ที่หายไป และการตกงาน ร้อยละ 66.3 ระบุ วัคซีนโควิด-19 ไม่พอ และร้อยละ 61.8 ความยากจนจากหนี้สินนอกระบบ

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าที่น่าเป็นห่วง คือ ร้อยละ 61.5 ระบุ ถึงเรื่องการศึกษาต้องสะดุดช่วงโควิด โดยเด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ เด็กยากจนพิเศษเพิ่ม ส่วนร้อยละ 51.9 ปัญหาอาชญากรรม การหลอกลวง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อแบ่งออกเป็นความทุกข์จำแนกระหว่าง ชาย และ หญิง พบว่า ร้อยละ 69.3 ของผู้หญิง เทียบกับผู้ชายร้อยละ 65.4 กำลังทุกข์ใจกับเงินรายได้ในที่หดหาย คนตกงาน แต่ในเรื่องวัคซีนโควิด-19 ไม่พอ พบว่า ร้อยละ 67.0 ของผู้ชาย เทียบกับร้อยละ 65.7 ของผู้หญิง นอกจากนี้ ร้อยละ 64.0 ของผู้หญิงเทียบกับร้อยละ 59.3 ของผู้ชาย กำลังทุกข์ใจเรื่องความยากจน หนี้สินนอกระบบ

ทว่า ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 64.8 ของผู้หญิงและร้อยละ 57.7 ของผู้ชายทุกข์ใจด้านการศึกษาสะดุด ช่วงโควิด เด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชนได้รับผลกระทบไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ เด็กยากจนพิเศษเพิ่ม จะเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาว และร้อยละ 58.0 ของกลุ่มผู้หญิง เทียบกับร้อยละ 45.0 ของกลุ่มผู้ชายทุกข์ใจเรื่องปัญหาอาชญากรรม การหลอกลวง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกตามระดับรายได้ พบว่า คนรายได้สูงมากกว่า 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ทุกข์ใจกับเงินในกระเป๋าที่หายไป รายได้หด คนตกงาน มากกว่า คนในทุกกลุ่มรายได้ ร้อยละ 77.8 ของกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ร้อยละ 70.2 ของกลุ่มคนรายได้ 30,001 – 50,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 65.3 ของกลุ่มคนรายได้ 15,001 – 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ร้อยละ 66.3 ของกลุ่มคนรายได้ 10,001 – 15,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 69.5 ของกลุ่มคนรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเช่นกัน คือ ปัญหาด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชนได้รับผลกระทบไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ เด็กยากจนพิเศษเพิ่ม โดยพบว่า ร้อยละ 88.9 ของกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ร้อยละ 64.9 ของกลุ่มคนรายได้ 30,001 – 50,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 63.3 ของกลุ่มคนรายได้ 15,001 – 30,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 56.0 ของกลุ่มคนรายได้ 10,001 – 15,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 62.5 ของกลุ่มคนรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เพราะกังวลว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นความทุกข์สะสมของคนไทยจากผลกระทบโควิดระยะยาว ที่มีมากกว่าเรื่องใหญ่ที่สะท้อนผ่านสังคม คือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและปัญหาวัคซีน โควิด-19 แต่ที่น่าเป็นห่วงไปกว่าเรื่องวัคซีนและเงินในกระเป๋าของประชาชน คือ การสะท้อนปัญหาสังคมในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการศึกษาและความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

“ประชาชนกำลังทุกข์ใจ เรื่องการศึกษา บุตรหลานจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการศึกษาและส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผลที่อาจตามมาในระยะยาว คือ ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆและโอกาสของประชาชนกลุ่มต่างๆในสังคม กำลังถ่างออกห่างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบและตกงาน ที่ส่งผลต่อรายได้ ปากท้อง และมีผลกระทบให้ลูกหลานหลายครอบครัวต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งยิ่งสร้างปัญหาให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น คนจนหลายครอบครัวพยายามดิ้นรนสุดชีวิตที่จะให้ลูกหลาน มีโอกาสที่ดีในสังคมอนาคต โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษาทางเดียวที่เขามีความหวังและพอให้ได้ นี่คือความทุกข์ของคนไทย ที่ไม่ควรมองข้าม” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

-- advertisement --