-- advertisement --

สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำส่วนหนึ่งจากงานเสวนาวิชาการ “ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยในวิกฤต COVID-19 (สำหรับ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล แพทย์แผนไทย และสหวิชาชีพ)” จัดโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อเร็วๆ นี้มานำเสนอกับท่านผู้อ่าน ซึ่งงานนี้น่าจะเป็นการรวมงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไว้มากครั้งหนึ่ง ตั้งแต่การวิจัยในห้องทดลอง สู่การใช้รักษาจริงในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย

ตั้งแต่ในโรงพยาบาลไปจนถึงในเรือนจำ

สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บรรยายเรื่อง “การศึกษาฤทธิ์

ต้านไวรัสโควิด-19 ของพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร” กล่าวถึงการศึกษาฟ้าทะลายโจรโดยแบ่งเป็นการใช้

Andrographolide กับการใช้สารสกัดหยาบ ใน 3 เรื่องคือ 1.ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ พบว่า ทั้ง Andrographolide และสารสกัดหยาบ อาจไม่มีผลในการชักนำให้เซลล์หลั่งสารที่มีผลยับยั้งไวรัส หรือไม่สามารถป้องกันไวรัสได้

2.ฟ้าทะลายโจรฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่

พบว่า สารสกัดหยาบมีผลในการทำลายเชื้อโควิด-19 โดยตรง ได้ดีกว่า Andrographolide โดยสารสกัดหยาบแม้ใช้เพียงน้อยกว่า 1 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ก็เริ่มเห็นผลแล้ว ในขณะที่ Andrographolide ต้องใช้อย่างน้อย 13.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และ 3.เมื่อติดเชื้อแล้ว การกินฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อแบ่งตัวในเซลล์ได้หรือไม่

พบว่า Andrographolide มีผลดีกว่าสารสกัดหยาบ

โดย Andrographolide ใช้เพียง 0.64 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ในขณะที่สารสกัดหยาบต้องใช้ 3.02 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งข้อเสนอแนะจากการศึกษาข้างต้นนี้ (ที่ทำในหลอดทดลอง) คือ 1.ไม่แนะให้กิน

พืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกันโรค 2.อาจมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลไกอื่นๆ รวมทั้งการใช้สารละลายอื่นในการละลายสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ 3.การใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยในคนต่อไป

ศ.(เกียรติคุณ) พญ.สยมพร ศิรินาวิน กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาคลินิกคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลบรรยายเรื่อง “ฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิด-19” กล่าวถึงงานวิจัย 2 ชิ้นคือ 1.Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19 : A randomized control trial กับ 2.Effects of Andrographis Paniculata on prevention of pneumonia in mildly symptomatic COVID-19patients : A retrospective cohort study

งานวิจัยชิ้นแรก ทดลองในโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ และ จ.นครปฐม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการเล็กน้อยรวม 57 คน แบ่งเป็นให้ยาหลอก (Placebo) 28 คน และให้ Andrographolide 29 คน ให้ยาวันละ 3 ครั้ง รวม 180 มิลลิกรัม/วัน รวม 5 วัน พบว่า กลุ่มที่ได้ยาซึ่งมี Andrographolide ไม่มีแม้แต่รายเดียวที่เกิดภาวะปอดอักเสบหรือปอดบวม อันเป็นอาการป่วยขั้นรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างซึ่งได้ยาหลอก พบ 3 รายที่เกิดอาการปอดอักเสบ ดังนั้นน่าจะมีการทดลองเพิ่มเติมโดยขยายกลุ่มตัวอย่างให้กว้างขึ้น

ส่วนงานวิจัยชิ้นที่สอง ทดลองในโรงพยาบาล 9 แห่งในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี มีกลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการรวม 539 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ Andrographolide 243 คน และกลุ่มที่ไม่ได้ 296 คน พบว่า กลุ่มที่ได้ Andrographolide มีเพียงรายเดียวที่เกิดภาวะปอดอักเสบในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้นั้นมีผู้ที่เกิดภาวะปอดอักเสบถึง 71 ราย อนึ่ง กลุ่มตัวอย่าง 1 รายที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide แล้วยังพบเชื้อลงปอดจนเกิดภาวะปอดอักเสบ พบว่าได้ยาวันที่ 11 ของการติดเชื้อ จึงสันนิษฐานว่าได้ยาช้าเกินไป

อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19ทั้งกลุ่มที่ติดแล้วมีอาการเล็กน้อยและกลุ่มที่ติดแล้วไม่มีอาการ มีโอกาสไม่แตกต่างกันที่จะนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบซึ่งหมายถึงอาการป่วยที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่า หากผู้ใดตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรได้รับยาฟ้าทะลายโจรไปรับประทานทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีอาการก่อน เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่มีราคาไม่แพง หาได้ง่ายและปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไปคือ เมื่อไวรัสมีสายพันธุ์ใหม่ๆข้อค้นพบนี้จะยังใช้ได้หรือไม่

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บรรยายเรื่อง “การสำรวจการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19” เปิดเผยว่า ในการระบาดระลอกใหม่ล่าสุด (นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมา) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดภาวะปอดอักเสบเพิ่มสูงขึ้น เมื่อตรวจสอบเชิงลึก พบว่า จำนวนมากได้รับยาล่าช้ากว่า 72 ชั่วโมง จึงเปลี่ยนคำแนะนำจากที่ให้รับประทานในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ติดเชื้อแม้ไม่มีอาการ กรณีเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว โดยรับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มีสารสกัดขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 60 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ติดต่อกัน 5 วัน

นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี บรรยายเรื่อง“ประสบการณ์การนำยาสมุนไพรไทยไปใช้ในสถานการณ์การระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ในเรือนจำ กรุงเทพมหานคร” เล่าประสบการณ์ร่วมทำงานควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำ 9 แห่ง และ 8 ใน 9 แห่งนี้เป็นเชื้อกลายพันธุ์สายอังกฤษ (B 1.1.7) หรืออัลฟ่า ว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีเงื่อนไขต้องเอกซเรย์ปอดก่อน จึงไม่สามารถทำได้เพราะในเรือนจำมีผู้ติดเชื้อกว่าหมื่นคน แต่อีกด้านก็ได้รับยาสมุนไพรมาเป็นจำนวนมาก

จึงนำมาสู่การติดตามกลุ่มตัวอย่างรวม 120 คน แบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 30 คน ดังนี้ 1.ใช้ฟ้าทะลายโจรแบบบดผง (ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล) รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น2.ใช้กระชายขาวแบบสารสกัด (ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล)รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล เฉพาะหลังอาหารเช้าเพียงมื้อเดียว3.ใช้ทั้งฟ้าทะลายโจร (ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล)รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็นและกระชายขาว (ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล)รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล เฉพาะหลังอาหารเช้าเพียงมื้อเดียว

และ 4.ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด)รับประทานวันแรกครั้งละ 9 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็นจากนั้นวันที่ 2 เป็นต้นไป รับประทานครั้งละ 4 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น โดยติดตามผลทุกกลุ่มเป็นเวลา 5 วัน นับจากเริ่มได้รับยา ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มจะมีการตรวจคัดกรองด้วยวิธี swab ทุกๆ 2 วัน จนครบ14 วัน พบผลที่น่าทึ่ง กล่าวคือ ทั้งฟ้าทะลายโจรกระชายขาว และใช้ทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน การตรวจครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อคือวันที่ 8 หลังได้รับยา ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะตรวจครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อ คือวันที่ 12 หลังได้รับยา

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมคลิปงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่ช่องยูทูบ“กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” ชื่อคลิป “เสวนาวิชาการ ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยในวิกฤติ COVID-19” หรือที่ลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=2phuTUSCld8&t=7825s

-- advertisement --