-- advertisement --

ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยากจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า พวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเราท่านทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย พวกเขามีความรักและใส่ใจต่อครอบครัว ศาสนา วัฒนธรรมอันดีงาม ต้องการดำรงชีวิตด้วยความภาคภูมิใจและมีความสันติสุข 

สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ถูกแปลกแยกเพราะเป็นพื้นที่ที่มีความยากจน ประสบกับการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูที่มีวัฒนธรรมตามอ้ตลักษณ์ของตนและมีศาสนาอิสลามเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว 

เบนาร์นิวส์ ได้ลงเยี่ยมเยือนพื้นที่และพูดคุยกับผู้คนในสาขาอาชีพต่าง ๆ ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ถึง 2 ก.ย. 2565 ซึ่งพวกเขาได้สะท้อนปัญหาการต่อสู้ดิ้นรน และแรงบันดาลใจของพวกเขาให้ทราบ

DS1_NEW.jpg

นูรีต้า มานิ 

หญิงสาววัย 23 ปี เพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอเลือกภาษาจีนเป็นวิชาเอก ปัจจุบัน เธอทำงานที่ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 

“ฉันชอบภาษา และอยากพูดได้หลายภาษา” นูรีต้า มานิ กล่าว และบอกว่าอาชีพในฝันของเธอ คือการเป็นมัคคุเทศก์ในภาคใต้ของประเทศไทย

DS2_NEW.jpg

โมฮัมหมัด มาราเฮาะ

โมฮัมหมัด ในวัย 35 ปี เปิดเพลงฟังจากสมาร์ทโฟน ขณะเดินไปตลาดเช้าใกล้บ้านย่านมัสยิดกรือเซะ เขาบอกว่าเขามีปัญหาสุขภาพจิต จึงไม่สามารถหางานทำได้ แต่ดนตรีและการเดินตอนเช้าช่วยเขาให้รู้สึกดีขึ้นได้

จังหวัดในภาคใต้ตอนล่างเป็นหนึ่งในบรรดาจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ โดยมีอัตราความยากจนอยู่ที่ร้อยละ 34 ทั้งในปัตตานีและนราธิวาส ขณะที่อัตราความยากจนทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 6 ตามรายงานความยากจนและความไม่เท่าเทียมของธนาคารโลกปี พ.ศ. 2562

 DS3_NEW.jpg

สะมูนี มันได

ยามรุ่งสางเกือบทุกวัน สะมูนี มันได วัย 27 ปี จะไปทำงานในสวนยางพารา ในอำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักมีเหตุการณ์ไม่สงบอยู่เป็นระยะ

“ฉันมีรายได้ไม่ค่อยพอใช้” เธอบอก พร้อมกับกล่าวเสริมว่ารายรับของเธอไม่แน่นอนเนื่องจากราคายางพาราที่ผันผวน

DS4_NEW.jpg

เมาะบูงอ มะมิง

เมาะบูงอ ในวัย 86 ปี เล่าว่าเธอมีความสุขกับการเคี้ยวหมากทุกเช้า แต่ “เมาะ” ในภาษามลายูที่แปลว่ายายในภาษาไทย ไม่ได้ติดตามข่าวการก่อความไม่สงบ  

“เมาะไม่ได้ติดตามอะไร” เมาะบูงอตอบ พร้อมกันส่ายหน้าเบา ๆ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบในชายแดนใต้ 

เมาะบูงอ เกิดก่อนการก่อตั้งบีอาร์เอ็นกว่า 20 ปี ในขณะนี้ บีอาร์เอ็นเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้    

DS5_NEW.jpg

ประพัฒน์ จินดานุสาร 

ประพัฒน์ จินดานุสาร ผู้อำนวยการศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในตัวเมืองปัตตานี คอยให้คำแนะนำแก่ผู้มาเยือนถึงวิธีการสักการะเทพเจ้าจีนที่ศาล 

“พี่น้องชาวปัตตานี มุสลิม ไทย จีน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ความแตกต่างไม่ใช่เหตุผลของการกระทำที่รุนแรง” ชายวัย 63 ปี กล่าว 

ในปัตตานี มีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก ซึ่งบรรรพบุรุษเข้ามาตั้งรกรากที่นี่เมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยได้สืบทอดวัฒนธรรมของตนสืบมา

DS6_NEW.jpg

ยาเตง แวหะมะ 

ยาเตง วัย 64 ปี เป็นเจ้าของร้านอาหารในชุมชนเล็ก ๆ นอกตัวเมืองปัตตานี ลุงบอกเช่นกันว่าไม่สนใจการเมือง

“การเมือง… อย่าให้พูดถึงเลย ไม่รู้ ไม่สนใจ” ยาเตง กล่าวสั้น ๆ พร้อมส่ายหน้า

DS7_NEW.jpg

อัสมะ มาแบ 

อัสมะ มาแบ อายุ 34 ปี ทำงานที่สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี

เธอเล่าว่า มันเป็นการยากสำหรับคนหนุ่มสาวในชายแดนใต้ที่จะมีอนาคตที่มั่นคง เนื่องจากขาดโอกาสด้านอาชีพ มีหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางไปมาเลเซียเพื่อหางานทำ อัตราการว่างงานของเยาวชนในภาคใต้ของประเทศไทยนั้นสูง เมื่อเทียบกับภาคอื่น แต่ทางการไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน

DS8_NEW.jpg

ร.ท. ชำนาญ เส้งทับ ผบ.ร้อย ทพ. 4305

ร.ท. ชำนาญ เส้งทับ เป็นผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4305 ในตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี

“ภารกิจที่ได้รับมอบคือ ควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ ให้ชาวบ้านปลอดภัย มีบุคลากรทางการศึกษาเป็นตัวหลัก… เราพัฒนาสัมพันธ์ (กับชาวบ้าน) มีอะไรเดือดร้อนให้ช่วย เราก็ไปช่วย” ร.ท. ชำนาญ กล่าว 

ในตอนกลางปี 2563 กำลังพลของกองร้อยหนึ่งนายเสียชีวิตในเหตุวางระเบิดริมถนนสายหนึ่ง ในอำเภอหนองจิก ขณะที่ชุดคุ้มครองครูออกลาดตระเวณด้วยเท้า 

นับตั้งแต่การก่อความไม่สงบเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2547 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 คน จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

DS9_NEW.jpg 

ฮัสซัน เตะแต 

ฮัสซัน เตะแต วัย 26 ปี กำลังศึกษาศาสนาอิสลามที่โรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี ซึ่งเป็นโรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนระดับมัธยมที่สอนอัลกุรอานและวัฒนธรรมมลายู โดยฮัสซันเริ่มเรียนมาตั้งแต่อายุ 16 ปี

“ผมต้องการเรียนศาสนาให้ถูกต้องตามหลักการ เพื่อดูแลพ่อแม่ก่อนตาย รู้แนวทางของอัลลอฮ์” ฮัสซัน กล่าวถึงเหตุผลที่มาเรียนที่นี่เป็นเวลานาน พร้อมบอกว่าเขาต้องการประกอบอาชีพที่เป็น “งานทั่วไปอะไรก็ได้” ในอนาคตข้างหน้านี้

DS10_NEW.jpg

นางรอกีเยาะ ลาแต

รอกีเยาะ ลาแต วัย 41 ปี เดินทางมาละหมาดที่มัสยิดกรือเซะ หลังจากเสร็จสิ้นการขายไก่แซ่บในตลาดใกล้มัสยิดกรือเซะเป็นประจำ

“ยอดขายลดลงครึ่งหนึ่งตั้งแต่เกิดความรุนแรงเมื่อเดือนที่แล้ว มันเลวร้ายลงไปอีกตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด” เธอกล่าว

ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุวางระเบิดและเผาร้านสะดวกซื้อ-ปั๊มน้ำมันพร้อมกันอย่างน้อย 17 จุด มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย ถึงขณะนี้ ไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ

DS11_NEW.jpg 

ชารีฟ ซอบานาลี  

ชารีฟ วัย 27 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาช่วยจัดงานนิทรรศการถอดรหัสเกลือหวาน (Patani Decoded 2022: Deep Salt) ในย่านชุมชนชาวจีนอันเก่าแก่ในตัวเมืองปัตตานี เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่นี่ “มีความน่าสนใจมากกว่าความรุนแรง” 

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการคือ การแสดงเรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรมในการทำนาเกลือ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร 

“เนื้อในของปัตตานียังมีความสวยงามทางวัฒนธรรม ทั้งพี่น้องไทยมุสลิม พี่น้องไทยพุทธ และพี่น้องจีน อยู่กันด้วยความสงบ” ชารีฟ กล่าว

DS12_NEW.jpg

นิแอ ตูแวกะจิ

นิแอ อายุ 26 ปี เป็นชาวนาเกลือรุ่นที่สาม แต่มีความกังวลว่าอาชีพนี้อาจจะหายไป

นาเกลือในจังหวัดปัตตานีมีขนาดเล็กกว่านาเกลือในภาคกลางของประเทศไทย แต่เกลือที่นี่มีรสชาติ “หวาน” ต่างจากที่อื่น ถืออันเป็นเอกลักษณ์ตามลักษณะภูมิประเทศ

“ผมเกรงว่าวันหนึ่งการทำนาเกลือที่นี่อาจจะหายไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาอื่น ๆ” นิแอกล่าว

มารียัม อัฮหมัด ร่วมรายงาน

-- advertisement --