ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยากจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า พวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเราท่านทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย พวกเขามีความรักและใส่ใจต่อครอบครัว ศาสนา วัฒนธรรมอันดีงาม ต้องการดำรงชีวิตด้วยความภาคภูมิใจและมีความสันติสุข
สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ถูกแปลกแยกเพราะเป็นพื้นที่ที่มีความยากจน ประสบกับการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูที่มีวัฒนธรรมตามอ้ตลักษณ์ของตนและมีศาสนาอิสลามเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว
เบนาร์นิวส์ ได้ลงเยี่ยมเยือนพื้นที่และพูดคุยกับผู้คนในสาขาอาชีพต่าง ๆ ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ถึง 2 ก.ย. 2565 ซึ่งพวกเขาได้สะท้อนปัญหาการต่อสู้ดิ้นรน และแรงบันดาลใจของพวกเขาให้ทราบ
นูรีต้า มานิ
หญิงสาววัย 23 ปี เพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอเลือกภาษาจีนเป็นวิชาเอก ปัจจุบัน เธอทำงานที่ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
“ฉันชอบภาษา และอยากพูดได้หลายภาษา” นูรีต้า มานิ กล่าว และบอกว่าอาชีพในฝันของเธอ คือการเป็นมัคคุเทศก์ในภาคใต้ของประเทศไทย
โมฮัมหมัด มาราเฮาะ
โมฮัมหมัด ในวัย 35 ปี เปิดเพลงฟังจากสมาร์ทโฟน ขณะเดินไปตลาดเช้าใกล้บ้านย่านมัสยิดกรือเซะ เขาบอกว่าเขามีปัญหาสุขภาพจิต จึงไม่สามารถหางานทำได้ แต่ดนตรีและการเดินตอนเช้าช่วยเขาให้รู้สึกดีขึ้นได้
จังหวัดในภาคใต้ตอนล่างเป็นหนึ่งในบรรดาจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ โดยมีอัตราความยากจนอยู่ที่ร้อยละ 34 ทั้งในปัตตานีและนราธิวาส ขณะที่อัตราความยากจนทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 6 ตามรายงานความยากจนและความไม่เท่าเทียมของธนาคารโลกปี พ.ศ. 2562
สะมูนี มันได
ยามรุ่งสางเกือบทุกวัน สะมูนี มันได วัย 27 ปี จะไปทำงานในสวนยางพารา ในอำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักมีเหตุการณ์ไม่สงบอยู่เป็นระยะ
“ฉันมีรายได้ไม่ค่อยพอใช้” เธอบอก พร้อมกับกล่าวเสริมว่ารายรับของเธอไม่แน่นอนเนื่องจากราคายางพาราที่ผันผวน
เมาะบูงอ มะมิง
เมาะบูงอ ในวัย 86 ปี เล่าว่าเธอมีความสุขกับการเคี้ยวหมากทุกเช้า แต่ “เมาะ” ในภาษามลายูที่แปลว่ายายในภาษาไทย ไม่ได้ติดตามข่าวการก่อความไม่สงบ
“เมาะไม่ได้ติดตามอะไร” เมาะบูงอตอบ พร้อมกันส่ายหน้าเบา ๆ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบในชายแดนใต้
เมาะบูงอ เกิดก่อนการก่อตั้งบีอาร์เอ็นกว่า 20 ปี ในขณะนี้ บีอาร์เอ็นเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้
ประพัฒน์ จินดานุสาร
ประพัฒน์ จินดานุสาร ผู้อำนวยการศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในตัวเมืองปัตตานี คอยให้คำแนะนำแก่ผู้มาเยือนถึงวิธีการสักการะเทพเจ้าจีนที่ศาล
“พี่น้องชาวปัตตานี มุสลิม ไทย จีน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ความแตกต่างไม่ใช่เหตุผลของการกระทำที่รุนแรง” ชายวัย 63 ปี กล่าว
ในปัตตานี มีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก ซึ่งบรรรพบุรุษเข้ามาตั้งรกรากที่นี่เมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยได้สืบทอดวัฒนธรรมของตนสืบมา
ยาเตง แวหะมะ
ยาเตง วัย 64 ปี เป็นเจ้าของร้านอาหารในชุมชนเล็ก ๆ นอกตัวเมืองปัตตานี ลุงบอกเช่นกันว่าไม่สนใจการเมือง
“การเมือง… อย่าให้พูดถึงเลย ไม่รู้ ไม่สนใจ” ยาเตง กล่าวสั้น ๆ พร้อมส่ายหน้า
อัสมะ มาแบ
อัสมะ มาแบ อายุ 34 ปี ทำงานที่สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี
เธอเล่าว่า มันเป็นการยากสำหรับคนหนุ่มสาวในชายแดนใต้ที่จะมีอนาคตที่มั่นคง เนื่องจากขาดโอกาสด้านอาชีพ มีหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางไปมาเลเซียเพื่อหางานทำ อัตราการว่างงานของเยาวชนในภาคใต้ของประเทศไทยนั้นสูง เมื่อเทียบกับภาคอื่น แต่ทางการไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน
ร.ท. ชำนาญ เส้งทับ ผบ.ร้อย ทพ. 4305
ร.ท. ชำนาญ เส้งทับ เป็นผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4305 ในตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี
“ภารกิจที่ได้รับมอบคือ ควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ ให้ชาวบ้านปลอดภัย มีบุคลากรทางการศึกษาเป็นตัวหลัก… เราพัฒนาสัมพันธ์ (กับชาวบ้าน) มีอะไรเดือดร้อนให้ช่วย เราก็ไปช่วย” ร.ท. ชำนาญ กล่าว
ในตอนกลางปี 2563 กำลังพลของกองร้อยหนึ่งนายเสียชีวิตในเหตุวางระเบิดริมถนนสายหนึ่ง ในอำเภอหนองจิก ขณะที่ชุดคุ้มครองครูออกลาดตระเวณด้วยเท้า
นับตั้งแต่การก่อความไม่สงบเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2547 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 คน จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ฮัสซัน เตะแต
ฮัสซัน เตะแต วัย 26 ปี กำลังศึกษาศาสนาอิสลามที่โรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี ซึ่งเป็นโรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนระดับมัธยมที่สอนอัลกุรอานและวัฒนธรรมมลายู โดยฮัสซันเริ่มเรียนมาตั้งแต่อายุ 16 ปี
“ผมต้องการเรียนศาสนาให้ถูกต้องตามหลักการ เพื่อดูแลพ่อแม่ก่อนตาย รู้แนวทางของอัลลอฮ์” ฮัสซัน กล่าวถึงเหตุผลที่มาเรียนที่นี่เป็นเวลานาน พร้อมบอกว่าเขาต้องการประกอบอาชีพที่เป็น “งานทั่วไปอะไรก็ได้” ในอนาคตข้างหน้านี้
นางรอกีเยาะ ลาแต
รอกีเยาะ ลาแต วัย 41 ปี เดินทางมาละหมาดที่มัสยิดกรือเซะ หลังจากเสร็จสิ้นการขายไก่แซ่บในตลาดใกล้มัสยิดกรือเซะเป็นประจำ
“ยอดขายลดลงครึ่งหนึ่งตั้งแต่เกิดความรุนแรงเมื่อเดือนที่แล้ว มันเลวร้ายลงไปอีกตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด” เธอกล่าว
ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุวางระเบิดและเผาร้านสะดวกซื้อ-ปั๊มน้ำมันพร้อมกันอย่างน้อย 17 จุด มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย ถึงขณะนี้ ไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ
ชารีฟ ซอบานาลี
ชารีฟ วัย 27 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาช่วยจัดงานนิทรรศการถอดรหัสเกลือหวาน (Patani Decoded 2022: Deep Salt) ในย่านชุมชนชาวจีนอันเก่าแก่ในตัวเมืองปัตตานี เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่นี่ “มีความน่าสนใจมากกว่าความรุนแรง”
ส่วนหนึ่งของนิทรรศการคือ การแสดงเรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรมในการทำนาเกลือ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร
“เนื้อในของปัตตานียังมีความสวยงามทางวัฒนธรรม ทั้งพี่น้องไทยมุสลิม พี่น้องไทยพุทธ และพี่น้องจีน อยู่กันด้วยความสงบ” ชารีฟ กล่าว
นิแอ ตูแวกะจิ
นิแอ อายุ 26 ปี เป็นชาวนาเกลือรุ่นที่สาม แต่มีความกังวลว่าอาชีพนี้อาจจะหายไป
นาเกลือในจังหวัดปัตตานีมีขนาดเล็กกว่านาเกลือในภาคกลางของประเทศไทย แต่เกลือที่นี่มีรสชาติ “หวาน” ต่างจากที่อื่น ถืออันเป็นเอกลักษณ์ตามลักษณะภูมิประเทศ
“ผมเกรงว่าวันหนึ่งการทำนาเกลือที่นี่อาจจะหายไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาอื่น ๆ” นิแอกล่าว
มารียัม อัฮหมัด ร่วมรายงาน