-- advertisement --

วันที่ 3 ธันวาคม นายนิรุทธิ์ ชมงาม หรือ นิกอสรพิษวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงู และเจ้าของเพจ Nick Wildlife ที่มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน ให้สัมภาษณ์ มติชนออนไลน์ เรื่องที่มีความเชื่อกันว่า หากเราตีงู แต่งูไม่ตาย งูตัวนั้น หรือ คู่ของงูตัวนั้น จะเกิดความอาฆาตพยาบาท และกลับมาแก้แค้นผู้ตีในภายหลัง ว่า เรื่องดังกล่าว เป็นความเชื่อที่เข้าใจผิด ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวยังสามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้

“งูเป็นสัตว์ที่มีมันสมองระดับหนึ่ง โดยสมองงูจะทำหน้าที่เรียนรู้การเอาชีวิตรอด การมีอารมณ์โกรธ โมโห หรือตกใจ แต่สมอง ยังไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้น อาฆาต พยาบาท และแก้แค้นใคร อย่างไรก็ตาม มีการศึกษากันว่า ความเชื่อที่ว่า งูมีความอาฆาตนั้นมีที่มาอย่างไร สันนืษฐานว่า เป็นเรื่องของความบังเอิญ เช่น ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เราไปตีงูจงอาง ที่กำลังอยู่กับคู่ของเขาตาย ต่อมาพบว่า คู่ของงูตัวที่เราตีตายกลับมาหาเราอีกครั้งเพื่อแก้แค้น เรื่องนี้อธิบายได้ว่า ช่วงฤดูผสมพันธุ์ งูจะมีการปล่อยฟีโรโมน ทั้งบริเวณที่เขาผสมพันธุ์ หรือ ในอากาศ เพื่อให้คู่ตามหากลิ่นนั้น ให้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ซึ่งฟีโรโมนดังกล่าว ก็จะอยู่ในอากาศ หรือ ติดอยู่ตามพื้นดิน หากเราตีงูตัวหนึ่งตายไป อีกตัวที่หนีไปได้ ก็จะกลับมาที่เดิม แต่ไม่ได้กลับมาแก้แค้น แต่จะกลับมาตามกลิ่นฟีโรโมนที่คู่ของตัวเองปล่อยไว้นั่นเอง”นายนิรุทธิ์ กล่าว

นิก อสรพิษวิทยา กล่าวว่า หรือกรณีของงูเห่า ที่เราตีแต่ไม่ตาย แล้วพบว่า งูเห่าตัวเดิมจะกลับมาหาเราอีกครั้งนั้น ก็อธิบายได้อีกว่า งูตัวดังกล่าว เดิมอาจจะอาศัยอยู่รอบๆบ้าน เมื่อออกมาให้คนเห็นแล้วถูกตี แต่ไม่ตาย มันก็จะกลับไปยังรัง และเมื่อถึงเวลากินอาหาร มันก็ต้องออกมาหาอาหารในบริเวณเดิม ไม่ใช่ออกมาเพื่อแก้แค้น

“งูไม่ว่าจะเป็นชนิดใด เขาจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการได้กัดคน แต่การถูกคนทำร้าย ถูกตี มันจะเกิดการเรียนรู้ว่า คน คือสิ่งที่เป็นอันตราย ไม่ควรเข้าใกล้ จึงไม่มีเหตุผลใดๆว่า หากเขาถูกตีแล้วเขาจะกลับมาแก้แค้น”นายนิรุทธิ์ กล่าว

ภาพ จาก เพจ Nick Wildlife

-- advertisement --