-- advertisement --

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย:



ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคนจีนโพ้นทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก มากจนคนไทยมีคำกล่าวว่า “หากโยนหินเข้าใส่ฝูงชนหนึ่งก้อน จะต้องโดนคนไทยที่มีเชื้อสายจีนสักคน” นอกจากนี้ ประเทศไทยยัง มีสถาบันขงจื่ออยู่เป็นจำนวนมากเป็นอันดับสองในเอเชีย โดยภารกิจของสถาบันขงจื่อในประเทศไทยเองได้รับการสนับสนุนและตอบรับที่ดีเยี่ยมจากประชาชนชาวไทย เหตุผลก็คือประชาชนชาวจีนกับชาวไทยมีการติดต่อคบหากันมานานทั้งในระดับรัฐและระดับประชาชน ซึ่งหากจะนับหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ ไทยกับจีนก็มีการติดต่อกันมาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และหากจะนับหลักฐานทางการทูตนั้น ไทยได้มีการติดต่อไปยังจีนตั้งแต่ราชวงศ์หมิง นั่นก็เพราะสมัยนั้น เจิ้งเหอได้ลงเรือเทียบท่าที่วัดพนัญเชิง ในสมัยอยุธยา ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูทางการทูตสองอาณาจักรอย่างเป็นทางการผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเล (海上丝绸之路)

ด้วยชื่อที่มีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ การทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ ทำให้คำว่าเส้นทางสายไหมทางทะเล จึงมีความหมายในเชิงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีเพื่อสร้างเส้นทางการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การค้า เพื่อประโยชน์ร่วมกันของมิตรประเทศของจีน ประเทศไทยจึงมีสถาบันขงจื่อชื่อหนึ่งเดียวในโลกที่ชื่อ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล

ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ประธานสถาบันฯ ที่เห็นความสำคัญของการศึกษาภาษาจีนมานาน โดยหากย้อนไปในปี 2006 ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มการเรียนการสอนภาษาจีนที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร พุทธสถานที่ตั้งอยู่หน้าทางเข้าสู่ถนนเยาวราช ชุมชนแห่งชาวจีนโพ้นทะเลที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย และด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์นี้ โรงเรียนมัธยมวัดไตรมิตรจึงได้รับเกียรติสูงสุดจากฮั่นปั้น (ในขณะนั้น) มอบป้ายห้องเรียนขงจื่อแห่งแรก (全球第一家孔子课堂) ของโลกให้กับห้องเรียนขงจื่อโรงเรียนวัดไตรมิตรวิทยาราม อีกทั้งสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนียังได้เป็นประธานจัดงานการแข่งขันภาษาจีนเพชรยอดมงกุฎ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นการแข่งขันภาษาจีนระดับนานาชาติที่มีผู้เข้าแข่งขันในทุกปีมากกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นการแข่งขันที่มีผู้เข้าแข่งขันมากที่สุดในโลก รองจากที่จัดในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของเจ้าประคุณสมเด็จ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2015 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน (天津师范大学) เป็นมหาวิทยาลัยร่วมก่อตั้งฝ่ายจีน

จีนมีคำกล่าวว่า “ฝ่าลมโต้คลื่น มุ่งมั่นก้าวหน้า” (乘风破浪,砥砺前行) แม้ในช่วงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ที่ผ่านมานี้จะทำให้เศรษฐกิจ การติดต่อสื่อสาร และการศึกษาในห้องเรียนได้หยุดชะงักลง แต่ด้วยความตั้งใจอันมุ่งมันที่หมายจะพัฒนาการศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นของสองประเทศสมดังคำกล่าวที่ว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” (中泰一家亲) สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ด้วยการนำของสมเด็จธงชัยฯ จึงมุ่งหน้าดำเนินภารกิจด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา สมเด็จธงชัยฯ ประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนทางระบบออนไลน์ระหว่างศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC) สาธารณรัฐประชาชนจีนกับกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของประเทศไทย โดยมีท่านเอกอัครราชทูตหานจื้อเฉียงเป็นสักขีพยานฝ่ายจีนนั้น ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นทำงานอย่างไม่หยุดยั้งในการผลักดัน และยกระดับการเรียนการสอนภาษาจีนผ่านหน่วยงานหลักด้านการศึกษาของรัฐบาลไทย เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้เข้าถึงการเรียนการสอนภาษาจีนที่มีมาตรฐานได้

และสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลมิใช่มีเพียงงานด้านการศึกษาภาษาจีนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแง่มุมอื่นที่สนับสนุนภาพลักษณ์ในการกระชับความสัมพันธ์ไทยจีนในวงกว้าง เช่น



กิจกรรมสาธารณประโยชน์

ในช่วงนี้ที่การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากที่สุด ก่อนการมีวัคซีน มีประชาชนไทยจำนวนมากเสียชีวิตและเกิดความหวาดกลัวต่อโรคระบาด ต้องปิดเมือง เกิดตกงาน ไม่มีงานทำเป็นจำนวนมาก อาจารย์เอกรัตน์ (艾格叻) ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย) และคณะ ได้ริเริ่มโครงการประชารวมใจชนะภัยโควิด19 (同心协力 战胜疫情) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 โดยการชักชวนนักธุรกิจชาวไทยและคณาจารย์ชาวจีนร่วมแรงกัน บริจาคเครื่องผลิตออกซิเจน 6 เครื่อง ถังออกซิเจน 60 ถัง ยาสมุนไพร 200 กระปุก ข้าวสาร 4,000 กิโลกรัม แอลกอฮอล์ 400 ขวด และพัดลมจำนวนมาก รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 2,000,000 บาท เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ตามสถานที่ที่มีผู้เดือดร้อนผ่านหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน มูลนิธิ และผู้นำชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ชุมชนยากไร้ในพื้นที่ห่างไกลที่คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงนั้น อาจารย์เอกรัตน์ได้นำพาข้าราชการในพื้นที่และคณาจารย์ชาวไทยเข้าไปช่วยเหลือถึงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและให้การช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ยังได้บริจาคหนังสือแบบเรียนเพื่อเตรียมสอบ HSK ระดับ1 ให้กับสถาบันการศึกษาทั้งระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาต่างๆกว่า 1,000 เล่ม

การปรับการเรียนการสอนและกิจกรรมเข้าสู่ระบบออนไลน์

ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการฝ่ายจีนคนก่อน คุณหวังซ่างเสวี่ย(王尚雪) แม้จะกลับประเทศจีนเพื่อเตรียมตัวไปรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายจีนที่สถาบันขงจื่อเนโรบี ประเทศแอฟริกา ก็ยังประสานงานกับทางฝั่งไทยเพื่อสานต่อการทำงานอย่างแข็งขันผ่านระบบออนไลน์ เช่น การเปิดอบรมออนไลน์หลักสูตรการพัฒนาภาษาจีนระดับต้นสำหรับครูวิชาชีพและผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา หลักสูตร 36 ชั่วโมง การจัดอบรมภาษาจีนทุนการศึกษาอาชีวศึกษาเทียนจิน-ประเทศไทย และได้ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ จัดงานเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ออนไลน์ ซึ่งทั้ง 3 กิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2021



กิจกรรมยังคงจัด โดยปรับเปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์

จนเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว ในเดือนตุลาคม 2021 รศ.เฉินเวย (陈巍副教授) จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียน (天津师范大学) ได้มารับหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายจีน และในเดือน มกราคม 2022 ผลงานการจัดทำคลิปสั้นของรศ.เฉินเวย ในนามของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมด้วยรางวัลองค์กรยอดเยี่ยมจากการแข่งขัน “ภาษาจีน+ไมโครวิดีโอ” แห่งประเทศไทยประจำปี 2021 ซึ่งเป็นการแข่งขันได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC) สำนักงานกรุงเทพฯ โดยมีผลงานเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 1,500 ชิ้น จาก 9 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และลาว

การสร้างสรรค์กิจกรรมวัฒนธรรมจีนไปสู่ระดับสากล

ในภาคการศึกษาหลังของปี 2022 สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มีโครงการเพื่อส่งเสริมและกระชับวัฒนธรรมไทย-จีน ไปจนถึงระดับนานาชาติมากมาย เช่น การร่วมกับสถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อในเครือข่ายจัดการแข่งขันหมากล้อมระดับเยาวชน การจัดสอนภาษาจีนให้กับครูหมากล้อมทั่วประเทศไทยเพื่อสร้างมาตรฐานการใช้ภาษาจีนในวิชาหมากล้อมซึ่งเป็นวัฒนธรรมโบราณที่กำเนิดขึ้นที่ประเทศจีนให้เป็นมาตรฐานที่ถูกต้อง และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวิทยายุทธจีนระหว่างนักศึกษาของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลกับนักศึกษามหาวิทยาลัยไนโรบี ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เป็นต้น



สืบสานภารกิจหลัก เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย

แม้ว่างานด้านพันธมิตรและวัฒนธรรมของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลจะมีความโดดเด่นและหลากหลายจน แต่กระนั้นสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลก็ยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจหลักคือการให้ทุนการศึกษาระดับอาชีวศึกษเพื่อไปศึกษาต่อยังนครเทียนจิน โดยในปีนี้มีนักเรียนได้ผ่านการสอบคัดเลือก 35 คน ซึ่งทุนการศึกษานี้เกิดจากความร่วมมือของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (ประเทศไทย) สภาการศึกษานครเทียนจิน มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน มาตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้รับทุนการศึกษาไปแล้ว 258 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 119 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 133,000,000 บาท

หลิวอวี่ซี (刘禹锡) กวีสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวว่า “เม็ดดินก่อภูเขา หยดน้ำเกิดแม่น้ำ” (山积而高,泽积而长) นั่นคือผลงานที่ยิ่งใหญ่เกิดจากการลงมือปฏิบัติทีละย่างก้าว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับการเรียนภาษาจีน การเผยแผ่วัฒนธรรมจีน การจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ไทยจีน ที่สอดคล้องกับนโยบายแถบและเส้นทาง อันจะนำพาประชาคมโลกไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน (共赢)

เส้นทางสายไหมทางทะเล จึงสร้างความงดงามเช่นเดียวกับแพรไหม และเชื่อมโยงแม่น้ำทุกสายเข้าด้วยกันเช่นเดียวกับมหาสมุทร ด้วยประการฉะนี้



เรียบเรียงโดยอาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และกรรมการบริหารบริษัทซิโน-ไทย คอมมูนิเคชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด

-- advertisement --