-- advertisement --

30 สิงหาคม 2564 | โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ | คอลัมน์อาหารสมอง

12

ไม่น่าเชื่อว่า สังคมปัจจุบันของเรา มีคน “จน” อยู่มากมายท่ามกลางความมั่งมี มันเป็นความ“จน” อีกลักษณะหนึ่งที่แตกต่างจากความจนที่เราคุ้นเคย

คาดว่าไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของคนไทยในช่วงอายุ 23-24 ปีขึ้นไปถึง 40 กว่า ๆ มีการศึกษาตั้งแต่มัธยม 3 ขึ้นไป ที่มีรายได้เฉลี่ยรายเดือน 18,000 บาท ถึงกว่า 100,000 บาท  มีพฤติกรรมเหมือนกันในหลายลักษณะที่ทำให้ “จน”  อุปมาคล้าย “ถังน้ำ” ที่มีรูให้น้ำไหลออกซึ่งคือรายจ่ายและมีน้ำไหลหรือรายได้เข้าจากก๊อกน้ำปริมาณน้ำที่อยู่ในถังคือเงินออมสะสม

ไม่ว่าจะมีน้ำไหลเข้าถังมากมายเพียงใดในแต่ละเดือน หากไหลออกในอัตราที่เท่ากัน ก็หมายถึงว่าไม่มีเงินออมสำหรับเดือนนั้น หากต้องการให้มีน้ำไหลเข้ามากกว่ารายได้จากก๊อกเดียวก็ต้องไปกู้มาซึ่งเสมือนกับมีน้ำจากอีกก๊อกไหลเข้ามาช่วย

คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมแบบถังน้ำร่วมกัน กล่าวคือ น้ำที่เหลืออยู่ในถังล้วนมาจากการกู้ทั้งสิ้น ซึ่งวันหนึ่งก็ต้องใช้คืนทั้งดอกเบี้ย

นี่คือความ “จน” ในความหมายดังกล่าวพฤติกรรมที่กล่าวถึงมีดังนี้

(1) แยกไม่ออกระหว่าง “needs” และ “wants” มนุษย์มีความจำเป็นต้องมี (needs) ในชีวิตเพื่อให้อยู่รอด  ปัจจัยสี่อย่างพอดีคือรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดีมีรายจ่ายอีกประเภทหนึ่งจากความต้องการมี (wants) ของคนกลุ่มนี้ เช่น มีชีวิตดื่มกินที่หรูหรา มีรถยนต์ เสื้อผ้าราคาแพง นาฬิกาหรู ช็อปเปอร์มียี่ห้อ โฮมเธียร์เตอร์สะสมของเล่นราคาแพง เที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ

ซึ่ง การกินอยู่เกินฐานะ” เช่นนี้เกิดได้ง่ายในยุคปัจจุบันด้วยบัตรเครดิตรูดบัตรคือยืมเงินมาใช้ก่อนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง แล้วผ่อนคืนเดือนละเล็กน้อยโดยมีบัตรหลายใบหมุนกันไป สไตล์ “จับแพะชนแกะ”  ก็ทำให้ได้สิ่งที่ต้องการมีตามเพื่อนฝูง เงินแต่ละเดือนไม่พอใช้แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะมีบัตรเครดิตช่วยอย่างไม่รู้จะจบอย่างไร 

(2) ใคร  ก็เป็นแบบนี้ เมื่อคนกลุ่มนี้มองกันและกัน ก็เห็นว่าไม่มีอะไรแปลกประหลาด ใคร ๆก็เป็นหนี้ในลักษณะนี้เพื่อให้มีของหรูหราใช้ ชีวิตเป็นของเราเมื่อทำงานหนักก็ต้องให้รางวัลชีวิตกันเป็นธรรมดา คนจะมีระดับก็ต้องมีหนี้กันบ้าง  

(3) คิดอย่างขาดเหตุผลเกี่ยวกับอนาคต  อีกหน่อยก็มีเงินมากกว่านี้” “อีกหน่อยก็ถูกหวย ชนะพนันรวยแล้ว”    แบบแผนความคิดง่าย  ไร้เดียงสาเช่นนี้มิได้ช่วยให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ดีขึ้น     หนี้จะงอกขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู

เมื่อถึงจุดที่ต้องแก้ไขหลายคนที่มีจริยธรรมอ่อนแอก็ต้องใช้วิธีที่ผิดจนนำไปสู่คุกตะราง เช่น เบียดบังหลวง คดโกง ขโมย  จี้ปล้น ฯลฯ หากแต่ละวันหมกมุ่นอยู่กับการหาโอกาสทุจริตเพื่อได้เงินมาใช้หนี้  การงานจะก้าวหน้าได้อย่างไร

(4) เล่นการพนัน หลายคนมีสไตล์การใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับการพนันโดยเริ่มต้นที่ความสนุกและตามมาด้วย การหาเงินมาใช้หนี้ด้วยการพนันออนไลน์ที่มีอยู่เกร่อไปหมด   แทงฟุตบอล ตีไก่ เล่นหวย ฯลฯ บางคนกู้หนี้นอกระบบมาเล่นพนันแล้วเสียจึงโดนสองเด้งคือทั้งเจ้าหนี้นอกระบบ และเจ้ามือการพนันไล่ทวงหนี้จนถูกฆ่าตายก็มี  

(5) ขาดหลักการในการดำเนินชีวิต มีชีวิตเพื่อความสุขสำราญในวันนี้โดยไม่คำนึงถึงอนาคตด้วยการคิดอย่างจริงจังว่าชีวิตจะเดินไปอย่างไรอย่างมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต สิ่งที่ประสบเหมือนกันก็คือการมีเงินใช้ไม่ชนเดือนถึงแม้จะมีรายได้สูงก็ตาม แต่ละวันคิดแต่การหาเงินมาใช้หนี้ที่ถูกทวงถามอยู่เสมอ 

(6) ใช้เวลาอย่างไร้ประโยชน์   แทนที่จะใช้เวลาว่างหาทางเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางแต่กลับหมดเวลาไปกับการติดตามเรื่องราวซุบซิบของดารา ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นเกมส์  อ่านเรื่องไร้สาระในโซเชียลมีเดีย ฯลฯ 

พฤติกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมที่ใหญ่โตได้เพราะเมื่อเผชิญกับปัญหาเรื่องเงิน คนส่วนมากก็จะพยายามหาแพะมารับบาปเพื่อความสบายใจ  เกิดความโกรธแค้น ชิงชัง องค์กร สถาบัน บุคคล พรรคการเมือง ฯลฯ โดยไม่เคยดูว่าตัวเองนั่นแหละคือต้นเหตุแห่งปัญหา สถานการณ์เช่นนี้ทำให้สังคมปั่นป่วนได้ไม่ยากหากมีคนลักษณะนี้อยู่เป็นจำนวนมาก (ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนรวมกันทั้งประเทศมีขนาดใกล้เคียง GDP หรือรายได้ของคนทั้งประเทศในปีหนึ่ง)          

หนี้บุคคลเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวที่ “อยู่กินเกินฐานะ”  กล่าวคือไม่ใช้จ่ายเงินในระดับใกล้เคียงกับรายได้ของตนเอง ปล่อยให้อิทธิพลของการโฆษณา การเลียนแบบเพื่อน ความต้องการมี ความปรารถนา “สุขสมอย่างทันด่วนฯลฯ เข้าครอบงำ จนรายได้ที่มีไม่น้อย(คนไทยเฉลี่ยมีรายได้ประมาณ 20,833 บาทต่อเดือนนั้นไม่เกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัวอย่างแท้จริง หากกลับกลายเป็นสะพานไปสู่หนี้และความยุ่งยากของชีวิตที่ตามมาจนหาความสุขใจไม่ได้ 

ผู้เขียนขอออกตัวว่าเขียนบทความนี้ด้วยความปรารถนาดี หลังจากที่ได้รับทราบและสังเกตเห็นปัญหาการเงินที่เกิดกับคนชั้นกลางเหล่านี้ที่โชคดีกว่าคนมากมายในประเทศ

หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาคือการไตร่ตรองทบทวนและมุ่งมั่นแก้ไขพฤติกรรม ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตนเอง ถ้าต้องการให้วันพรุ่งนี้แตกต่างไปจากที่เคยเป็น ก็ต้องทำวันนี้ให้แตกต่างไปจากที่เคยทำมา.

-- advertisement --