-- advertisement --

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กลุ่ม #ย้ายประเทศกันเถอะ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหญ่บนสังคมออนไลน์ที่พลเมืองเน็ตไทยให้ความสนใจอย่างมาก เพราะกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเล่นๆ แต่มีจุดประสงค์ในการแบ่งปันข้อมูลการใช้ชีวิตของคนไทยในต่างแดนให้ผู้ที่สนใจอพยพไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิต ซึ่งมีคนไทยหลายอาชีพจากแต่ละแวดวงเข้ามาโพสต์ข้อความร่วมแบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจกันมาก จนจำนวนสมาชิกในกลุ่มทะลุ 1 ล้านคนในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

กระแสของกลุ่ม #ย้ายประเทศกันเถอะ หรือชื่อใหม่ คือ ‘โยกย้าย โยกย้ายมาส่ายสะโพกโยกย้าย’ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่ภาพยนตร์เรื่อง Minari ซึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลีใต้ในสหรัฐอเมริกา และมีชื่อเข้าชิง 6 รางวัลจากเวทีออสการ์ครั้งที่ 93 เพิ่งเข้าฉายในประเทศไทย ยิ่งทำให้กระแสความคิดเรื่องการอพยพย้ายประเทศเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ ประชาไทจึงชวน ‘รศ.จักรกริช สังขมณี’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึงการอพยพย้ายประเทศของคนเกาหลีใต้ในมิติต่างๆ ที่เห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง Minari ข้อดี-ข้อเสียของการย้ายประเทศ รวมถึงสะท้อนกระแสคนไทยรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศผ่านการมองคนเกาหลีอพยพ

รศ.จักรกริช สังขมณี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาเหตุที่คนเกาหลีใต้อพยพย้ายถิ่นในทศวรรษที่ 1960-1980

รศ.จักรกริช บอกว่า คนเกาหลีจำนวนมากใต้อพยพย้ายถิ่นฐานไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1960-1980 เกิดจากปัจจุบัยภายในและภายนอก เพราะในช่วงเวลานั้น เกาหลีใต้เพิ่งผ่านพ้นภาวะสงครามกลางเมือง และอยู่ในกระบวนการสร้างชาติ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้มีความเป็นเผด็จการสูง ในขณะเดียวกัน อิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกันก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนเกาหลีโดยเฉพาะชนชั้นกลางเลือกที่จะออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ

“จริงๆ มีหลายสาเหตุที่ทำให้คนเกาหลีใต้ในช่วงนั้นเริ่มมองออกไปนอกประเทศมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากปัจจัยภายใน คือ บริบททางสังคมการเมืองในตอนนั้นเป็นสังคมที่ไม่ได้เปิดกว้างมาก ในแง่ของการที่คนจะยกระดับฐานะ ความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น ในตอนนั้น เกาหลีใต้เริ่มเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน เริ่มมีอุตสาหกรรม เริ่มมีกระบวนการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เกาหลีใต้อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการซึ่งใช้อำนาจอย่างมากในการจัดการเชิงนโยบายและสังคม แน่นอนว่าในช่วงหลายทศวรรษให้หลัง ผลของนโยบายเหล่านั้นอาจจะเกิดประโยชน์กับประเทศ นำไปสู่การพัฒนาแบบรัฐที่ชี้นำ นำไปสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ มันเกิดช่องว่างทางชนชั้น ช่องว่างทางสังคม ช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วก็เกิดการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในเชิงนโยบายด้วย ทำให้คนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มันเป็นบรรยากาศของการพยายามผลักดันประเทศไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนานั้นมีต้นทุนอย่างมาก ซึ่งมาจากการใช้แรงงานคนในราคาถูก ปิดปากปิดเสียงของผู้คนไม่ให้แสดงออก ให้เชื่อผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัย”

“ในอีกด้านหนึ่ง สวัสดิการ นโยบายต่างๆ ที่รัฐมีก็จำกัดมากๆ รัฐเรียกร้องความรักชาติ เรียกร้องความเสียสละ เรียกร้องความอดทน เรียกร้องความมีวินัยจากผู้คน เสมือนว่าคนเหล่านี้เป็นทรัพยากรของรัฐที่จะเอามาใช้ทำอะไรก็ได้เพื่อพัฒนาประเทศในรูปแบบที่ตอบสนองนโยบายของรัฐ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความมั่นคงของผู้คน ความมั่นคงของประชากรมันไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น คนจำนวนหนึ่งซึ่งมีโอกาส มีความสามารถในการย้ายตัวเองไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า ก็เริ่มมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ที่เขาสามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเองและคนรุ่นต่อไป ซึ่งก็คือลูกหลานของเขา”

“ผมยกตัวอย่างว่า สวัสดิการไม่มีให้คนที่ทำงานอยู่ในระบบธุรกิจและอุตสาหกรรม ตอนนั้นกฎหมายแรงงานมีแล้ว แต่ใช้กฎหมายแรงงานอย่างทั่วถึงยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความมั่นคงในการทำงานแทบจะเรียกได้ว่ามีความเสี่ยงมากๆ สถาบันการศึกษาหรือสื่อมวลชนก็อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐทั้งสิ้น ครูอาจารย์ สถาบันการศึกษา หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ หรือสำนักข่าว ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้การเซ็นเซอร์ของรัฐ ไม่ว่าคุณจะทำงานในภาคบริการ ภาคธุรกิจ ภาคการสื่อสาร หรือการศึกษา ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีอิสระทางความคิด นี่ยังไม่ต้องพูดถึงคนที่ต้องทำงานเรื่องของศิลปะ ศิลปิน วงการบันเทิง ซึ่งแน่นอนว่าก็ทำไม่ได้ด้วย ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ แม้ว่าคุณจะมีความรู้ความสามารถ แต่คุณก็ต้องสวามิภักดิ์หรือยอมทำตามคำสั่งรัฐ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่มีความคิดที่อยากจะทำอะไรใหม่ๆ จึงเลือกที่จะไปทำที่อื่นมากกว่า รวมถึงวงการหนังด้วย ซึ่งคนจำนวนมากที่ทำหนัง ก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่พื้นที่ของเขาแล้ว และออกไปแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ ในภายหลังเขาก็กลับมา มาเป็นกำลังสำคัญของวงการหนังของเกาหลี”

“ปัจจัยภายนอกก็มีผล คนเกาหลีส่วนใหญ่นิยมอพยพไปสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือบางประเทศในยุโรป แต่สหรัฐฯ เป็นจุดหมายสำคัญของการอพยพ สาเหตุประการหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเกาหลีใต้และคนเกาหลีอยู่แล้ว นับตั้งแต่หลังสงครามเกาหลีเป็นต้นมา การเข้ามาของสหรัฐฯ ไม่ได้นำมาเฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคง การทหาร หรือการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องวัฒนธรรมและอุดมการณ์ ซึ่งคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่รับรู้ว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย มีทั้งคนผิวสี มีทั้งคนขาว เป็นสังคมซึ่งเปิดกว้าง และมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีสื่อบันเทิงต่างๆ ของอเมริกันที่เข้ามาในเกาหลีใต้ด้วย ทั้งกีฬา เพลง ภาพยนตร์ ดังนั้น American Society หรือสังคมอเมริกัน จึงเป็นพื้นที่หลักของการอพยพเคลื่อนย้าย ซึ่งคนเกาหลีใต้คิดว่า ถ้าเขาจะอพยพไป ก็ดูพื้นที่ที่เขามีความคุ้นเคย”

“นอกจากนี้ นโยบายของสหรัฐฯ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีการผ่อนปรนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ใช้นโยบายจำกัดโควตาของผู้อพยพ โดยให้โควตากับคนที่มาจากยุโรปค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่ค่อยมีคลื่นอพยพของคนเอเชียเข้าไปยังสหรัฐฯ แต่หลังจากนั้น พอรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนนโยบายรับผู้อพยพชาวเอเชียมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คนซึ่งมีอาชีพหรือมีความเชี่ยวชาญที่สังคมอเมริกันต้องการเข้าไปทำงานมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเกาหลีใต้ที่มีความรู้สามารถอพยพไปยังสหรัฐฯ ได้ แน่นอนว่า คนเกาหลีใต้มองสหรัฐฯ เป็นภาพที่ดีกว่าประเทศตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่ง คนเกาหลีใต้ก็ไม่ได้มองว่าสังคมอเมริกันนั้นสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อเทียบกับสังคมที่ตัวเองอยู่อาศัยแล้ว สังคมอเมริกันน่าจะมีโอกาสหรือเป็นพื้นที่ที่ให้โอกาสกับคนเกาหลีใต้ในการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นด้วย”

ความลำบากของคนเกาหลีใต้อพยพ

“การอพยพไม่เคยง่าย ไม่ว่าจะไปที่ไหน การย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ใหม่เป็นกระบวนการที่ไม่เคยเรียบง่าย แล้วก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว มันไม่ใช่แค่เราเดินทางขึ้นเครื่องบินหรือลงเรือ ขึ้นฝั่ง แล้วถึงเลย แต่ว่ามันคือกระบวนการที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง อย่างแรกคือ ความยากในการที่คุณจะออกจากพื้นที่ที่เป็นบ้านเกิด ผมคิดว่ามนุษย์จำนวนมากเชื่อมโยงกับบ้านเกิด เพราะบ้านเกิดมีทั้งญาติพี่น้อง เพื่อน ชุมชน อะไรหลายๆ อย่าง โดยปกติ คนเราต่างรักบ้านเกิดหรือชุมชนที่ตัวเองกำเนิดมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการออกจากพื้นที่นี้ไปยังพื้นที่ใหม่ ต้องพบเจอผู้คนใหม่ ชุมชนใหม่ วัฒนธรรมและภาษาแบบใหม่ เป็นการตัดสินใจที่ยาก”

“มีการทำผลสำรวจว่าทำไมคนเกาหลีใต้ถึงอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา สาเหตุหลัก คือ เรื่องของอาชีพและเศรษฐกิจ ในระบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแบบนี้มันไม่เอื้อต่อการที่จะทำให้เขายกระดับฐานะหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สาเหตุที่สอง คือ การมองเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน จริงๆ แล้วเป็นการมองไปยังอนาคต พูดง่ายๆ ว่าถ้าเกิดอยู่อย่างนี้ไป ลูกหลานก็คงจะไม่ได้อยู่ในสังคมที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าย้ายไป เขาน่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีการศึกษาที่ดีขึ้น สาเหตุที่สาม คือ การย้ายตามผู้ที่อพยพไปก่อนหน้านี้ เป็นการรวมญาติ เมื่อย้ายไปยังที่อื่น ตั้งรกรากได้แล้วก็มีญาติพี่น้องอพยพตามมา”

“สิ่งสำคัญของกระบวนการอพยพย้ายถิ่นฐาน คือ การปรับตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างในกรณีของคนเกาหลีใต้ที่มีวุฒิการศึกษาหรือมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมบ้านเกิดของเขา เมื่อเขาอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ มันเป็นการเริ่มจากศูนย์ บางครั้งวุฒิการศึกษาที่จบมาอาจจะใช้ไม่ได้ บางครั้งเครือข่ายเพื่อนฝูง คนรู้จัก ก็ไม่มีแล้วก็ต้องเริ่มต้นใหม่ อุปสรรคด้านภาษา หรือแม้กระทั่งการต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพราะฉะนั้น กระบวนการปรับตัวเพื่อดิ้นรนตรงนี้เกิดขึ้นมายาวนานหลายรุ่นคน คนที่อพยพไปรุ่นแรกต้องเผชิญกับความยากลำบาก กว่าจะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นมันก็ผลัดไปสู่คนรุ่นต่อไปแล้ว” รศ.จักรกริช กล่าว

ปัจจัยในการอพยพของคนเกาหลีปัจจุบัน

แม้ว่าตอนนี้เกาหลีใต้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประชาชนมีรายได้สูง รวมถึงมีความก้าวหน้าทางการศึกษา และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก แต่คนเกาหลีใต้รุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยยังคงมีความคิดอยากย้ายประเทศไปอยู่ในพื้นที่ที่ดีกว่า ซึ่ง รศ.จักรกริช มองว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดของคนเกาหลีรุ่นใหม่นั้นคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับคนรุ่นก่อนหน้า

“มีความคล้ายกัน แต่อาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว ในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 เป็นช่วงที่อพยพไปเพราะระบบการเมืองส่งผลอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ จริงๆ แล้วในช่วงทศวรรษที่ 1970 รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามให้คนเกาหลีที่เคยอพยพไปเรียนหนังสือในช่วงทศวรรษที่ 1960 เดินทางกลับมายังประเทศด้วย โดยเฉพาะคนที่เป็นหมอ วิศวกร หรือคนที่เรียนวิทยาศาสตร์”

พักจองฮี ประธานาธิบดีในยุคนั้นมองเห็นปัญหาการอพยพออกนอกประเทศของคนเกาหลี และใช้เงินส่วนตัวออกนโยบายให้คนเหล่านี้เดินทางกลับมา แล้วก็จ้างงานคนเหล่านี้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวนำโดยรัฐ ผู้นำทำเองด้วยซ้ำ แต่ในท้ายที่สุดมันไม่ได้ดึงดูดใจเพราะคนเกาหลีที่ออกเผชิญโลกที่มันกว้าง เขารู้แล้วว่าความสามารถที่เขามี สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น แน่นอนว่าการกลับมารับใช้ชาติ กลับมาช่วยพัฒนาประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ว่าท่ามกลางบรรยากาศที่ต้องมารับใช้เผด็จการ จะต้องมาทำงานภายใต้ระบบองค์กรซึ่งไม่ได้ให้อิสระเสรีกับเขา เขาก็ไม่กลับมา ในช่วงนั้นมันก็มีเหตุผลทางการเมือง สำคัญมากเลย”

“ในปัจจุบัน สังคมเกาหลีใต้มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก แต่ว่าคนเกาหลีเองก็มีความไม่พอใจ มีความต้องการที่จะอพยพย้ายถิ่นเยอะอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ปี มองประเทศตัวเองว่าเป็นนรก เป็นพื้นที่ที่เขาอยู่อย่างไม่มีความมั่นคง ไม่มีความสบายใจ เขาเรียนจบมา จะทำงานก็ต้องไปทำงานพาร์ทไทม์ก่อน หรือไม่ฝึกงานซึ่งไม่ได้รับเงินเดือน ความมั่นคงทางอาชีพก็ไม่มี แล้วก็ยังไม่ต้องพูดถึงการเลือกปฏิบัติต่อเพศสภาพ การที่จะต้องอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่และมีลำดับชนชั้น แถมยังมีวัฒนธรรมทุจริต เล่นพวกเล่นพ้องอยู่เยอะ คนรุ่นใหม่เหล่านี้จึงรู้สึกว่านี่ไม่ใช่พื้นที่ที่ควรจะเป็น เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ทุจริต เรื่องของการข่มเหงในองค์กรเป็นข่าวออกมา คนเกาหลีใต้ถึงโกรธกับเรื่องนี้มาก เช่น กรณีที่ออกมาประท้วงอดัตประธานาธิบดีพักกึนเฮก่อนหน้านี้ เรื่องทุจริต เรื่องของเส้นสาย มันไม่ได้เป็นแสดงออกถึงความไม่พอใจของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามันเป็นการแสดงถึงความไม่พอใจสังคมโดยรวมว่ายอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร คนเกาหลีใต้จำนวนมากจึงพยายามดิ้นรนที่จะออกไปอยู่ในสังคมอื่นๆ แต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่งั้นคนเกาหลีใต้อายุ 20-30 ก็อพยพไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว”

“เหตุผลในปัจจุบันมันเป็นเหตุผลซึ่งผมว่ามันฝังอยู่ในสังคมแล้ว การแข่งขัน การทำงานของรัฐบาลที่ยังไม่ดีพอ แม้ว่าจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็ ตอนที่ มุนแจอิน เข้ารับตำแหน่ง นโยบายแรกที่เขาพูด คือ การสร้างงานให้กับคนเกาหลีใต้ หน่วยงานของรัฐและบริษัทต่างๆจะต้องเพิ่มอัตราของจำนวนบุคลากร รวมถึงนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หรือธุรกิจสตาร์ทอัปต่างๆ ก็ทำให้คนเกาหลีรู้สึกว่าเขามีชีวิตที่อิสระขึ้นได้ในสังคม เกาหลีใต้เห็นปัญหาเหล่านี้และพยายามที่จะผลักดัน แม้ว่าอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ทั้งหมด แต่ผมว่าเขารู้ว่าการที่จะดึงให้คนเหล่านี้อยู่ในประเทศของตัวเองได้ และเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ (Creative Economy) เขาต้องทำอะไรบ้าง เขาจะพึ่งพาอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบเก่า นโยบายแบบเก่าไม่ได้อีกต่อไป”

วางนโยบายเพื่ออนาคตของชาติ กันภาวะสมองไหล

รศ.จักรกริช คิดว่าความแตกต่างระหว่างคน 2 ช่วงอายุมีผลอย่างมากในการในการขับเคลื่อนประเทศ และรัฐบาลต้องวางนโยบายที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในอนาคต

“อย่างที่ผมพูดเรื่องการประท้วงพักกึนเฮ หรืออีมยองบัก ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 คนนี้ได้รับคะแนนเสียงจากคนที่มีอายุและเป็นสายอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนเหล่านี้มองว่านโยบายแบบสมัยพักจองฮีเป็นนโยบายที่เหมาะสมแล้ว รัฐเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศ แต่คนรุ่นใหม่ก็จะไม่ชอบอะไรแบบนี้ มีความแตกต่างประหว่างช่วงวัย (Generation Gap) แน่นอน รวมถึงเรื่องการทำงานด้วย อย่างที่เราเห็นในซีรีส์ Start-Up ซึ่งผู้สร้างพยายามบอกว่าคนเกาหลีรุ่นใหม่ไม่พอใจที่จะทำงานในองค์กรขนาดใหญ่แบบเดิมอีกต่อไป การทำงานในธุรกิจแชโบล (กลุ่มบริษัทนายทุนขนาดใหญ่) ซึ่งเป็นของครอบครัวกลุ่มธุรกิจไม่กี่เจ้า ไม่ใช่ความภาคภูมิใจหรือสถานที่ที่คนรุ่นใหม่ปรารถนา แต่คนใหม่ต้องการพื้นที่ที่เขาสามารถสร้างอะไรเองได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเกาหลีใต้ถึงหันมาสนใจเรื่องธุรกิจ SME และสตาร์ทอัป แต่การทำแบบนี้ได้ต้องฝืนธรรมเนียมทางสังคมพอสมควร คนรุ่นเก่ามองว่าการทำงานในบริษัทใหญ่นั้น มั่นคง มีหน้ามีตา และเป็นคนที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ แต่การแยกออกมาทำงาน มีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือทำงานหลายบริษัทนั้นไม่มั่นคง มักถูกมองว่าเป็นคนมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ซีรีส์เรื่อง Start-Up จึงพยายามบอกให้สังคมเกาหลีรู้ว่าเราไม่ควรตัดสินคนจากการการทำงานในบริษัทใหญ่เหมือนเดิมต่อไปแล้ว สังคมเปลี่ยนไปแล้ว”

“จริงๆ แล้ว เกาหลีใต้ผลักดันประเทศด้วยนโยบายของแชโบลหรือบริษัทขนาดใหญ่ไปได้อีกไม่นาน อุตสาหกรรมหรือว่าเศรษฐกิจแบบใหม่ต้องการการที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกาหลีใต้เองก็เตรียมพร้อมนโยบายเหล่านี้ไว้เยอะ เพื่อต้องส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่สามารถรับมือกับเศรษฐกิจแบบใหม่ได้ ธุรกิจแชโบลจะหมดสิ้นอนาคตภายในไม่อีกกี่ทศวรรษข้างหน้าแล้ว ถ้าเกิดว่าคนเกาหลีรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานในแชโบลหรือบริษัทใหญ่ๆ แล้วเกาหลีใต้จะดำรงความเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอยู่ได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ท้าทายมาก”

“ส่วนไทยเราไม่ต้องพูดถึง เพราะเราอยู่ใต้เพดานประเทศกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจระดับกลางแบบนี้มานานแล้ว เราไม่สามารถจะเขยิบไปตรงอื่นได้ ในขณะที่เกาหลีใต้อยู่ในระดับสูงแล้ว เขาคิดต่อว่าเขาจะอยู่ในระดับสูงอย่างไรให้ยาวนานต่อไป”

ระบบเศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยมันสมองและสองมือ

รศ.จักรกริชมองว่านโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่พยายามรั้งให้คนรุ่นใหม่อยู่ในประเทศอาจทำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและมีอัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างมาก ทำให้เกาหลีใต้ขาดแคลนคนวัยแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นำมาสู่การเปลี่ยนสถานะจากผู้อพยพย้ายออกเป็นผู้อ้าแขนรับแรงงานอพยพแทน

“แม้ว่าเกาหลีใต้จะมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ซึ่งมีคุณภาพเยอะ แต่ผมอยากจะเน้นให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจในหนึ่งประเทศมันไม่ใช่เป็นระบบที่ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนที่เป็นมันสมองของประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเศรษฐกิจมีหลายระดับมากและมันต้องการความร่วมมือจากบุคลากรและแรงงานในหลากหลายรูปแบบ ผมยกตัวอย่างทศวรรษที่ 1960-1970 ตอนที่เกาหลีใต้เกิดยุคสมองไหล คนชั้นกลาง แรงงานปกขาว (White Collar Worker) อพยพไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ มันมีผลกระทบซึ่งเรามองไม่ค่อยเห็น คือ คนชนชั้นล่าง คนที่เป็นแรงงาน ถูกผลักเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมในประเทศ และต้องทำงานหนักขึ้น ต้องกลายเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศแทนคนกลุ่มมันสมองซึ่งอพยพออกไป แทนที่จะได้ใช้ทั้งมันสมองและแรงงานไปพร้อมๆ กัน”

“เมื่อขาดกลุ่มที่เป็นมันสมอง คุณก็ต้องไปเร่งเครื่องแรงงานกลุ่มที่เน้นขายแรง (Intensive Labor) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องทุกข์ทรมานและอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์นี้ไปตลอด อย่างในตอนนี้ก็เหมือนกัน เกาหลีใต้ผลิตคนที่เป็นมันสมองจำนวนมาก จึงไม่มีใครทำงาอันตราย สกปรก หรือว่าถูกดูถูกเหยียดหยาม แล้วเกาหลีใต้ทำอย่างไร ก็ต้องอพยพผู้คนจากภายนอกเข้ามาเป็นแรงงาน ซึ่งเกาหลีใต้เองก็ไม่คุ้นชินกับระบบแบบนี้ เพราะเป็นสังคมที่ปิดมาตลอด การมีแรงงานจากต่างชาติเข้าไปอยู่จำนวนมากไม่ใช่สิ่งที่สังคมเกาหลีจะรับได้ แต่ตอนนี้สังคมเกาหลีใต้เห็นแล้วว่าท่ามกลางการอพยพออกนอกประเทศของคนเกาหลีใต้จำนวนหนึ่ง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกาหลีใต้ไม่มีฐานแรงงานเพียงพอ จึงต้องนำเข้าแรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในกลุ่มประเทศอื่นๆ เยอะมากพอสมควร”

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Minari (เครดิตภาพ A24)

“เวลาเราเห็นคนเกาหลีใต้อพยพไปอยู่ต่างประเทศ อย่างในกรณีของเรื่อง Minari ก็พูดให้เห็นชัดเจนว่าการที่คุณไปเป็น ‘คนอื่น’ ในประเทศอื่นนั้นต้องดำรงชีวิตด้วยความยากลำบากอย่างไร และต้องเผชิญอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นภาพที่สะท้อนกลับมาบอกคนเกาหลีใต้ว่า ตอนนี้เรากำลังต้องการ ‘คนอื่น’ เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศเราแบบนี้นะ เพราะฉะนั้นเราเห็นประสบการณ์ของเราเองแล้วว่าเวลาย้ายไปอยู่ที่อื่นจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราควรเรียนรู้และเปิดใจนำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้เพื่อทำความเข้าใจคนอื่นที่อพยพมาอยู่ในประเทศเราด้วย”

“จริงๆ แล้ว ไทยก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 คนไทยอพยพไปเป็นแรงงานในต่างประเทศเยอะมาก ทั้งในซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ไปทำงานก่อสร้าง เป็นแม่บ้าน ทำงานเหมือง หรือทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นเดียวกัน ในตอนนี้ คนไทยมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เราก็จะไม่ทำงานบางประเภท เราก็ต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรลืมว่าการอพยพมันก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคน นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก เรามักจะคิดเสมอว่าการอพยพย้ายถิ่นของคนที่เข้ามาในสังคมเรามันเป็นการสร้างภาระ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ การอพยพไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกนี้เป็นการอพยพที่ทุกคนได้ประโยชน์ และนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมันมีการเปลี่ยนถ่าย เชื่อมโยงกันตลอดเวลา”

ย้ายประเทศถือเป็นการสร้างชาติหรือไม่

“ในกรณีของเกาหลีใต้เกิดกระบวนการ ‘Reverse Brain Drain’ หรือการที่สมองไหลกลับมายังประเทศเดิม เพราะว่าคนที่อพยพไปเห็นโอกาส ซึ่งคนจำนวนมากที่ทำให้เกาหลีใต้มีชื่อเสียงในปัจจุบันก็เป็นคนที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศ อย่างกรณีของ Lee Isaac Chung ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Minari ก็เป็นคนที่กลับไปอยู่เกาหลีใต้ แน่นอนว่า เขาไม่ได้อพยพกลับมาอย่างถาวร เขาเป็นคนอเมริกันไปแล้ว แต่ว่าก็ยังมีสายสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ ยังกลับมาทำงาน กลับมาสอนหนังสือ กลับมาทำงานในอุตสาหกรรม[บันเทิง]เกาหลีใต้อยู่บ้าง หรือแม้กระทั่งนักแสดงในเรื่องเอง คนเหล่านี้ก็มีรากเหง้าที่ยึดโยงเกาหลีใต้ จะเห็นว่ากระบวนการไหลย้อนกลับของมันสมองนั้นให้ประโยชน์กับประเทศเกาหลีใต้ แต่จริงๆ แล้วเป็นกระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป ถ้าเราสามารถทำให้คนในประเทศสามารถอยู่ในประเทศของตัวเองได้ มีอิสระ มีเสรีภาพ มีความคิด แล้วรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่ให้โอกาสกับเขาอย่างเต็มที่ รวมถึงคนที่อพยพเข้ามาใหม่เพื่อแรงงานด้วย”

“เกาหลีใต้พยายามเปลี่ยนนโยบายต่างๆ เยอะมาก นโยบายทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยน เน้นผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น เน้นผู้อพยพที่เข้ามาเป็นแรงงานมากขึ้น เขามีความพยายามที่จะคิดใหม่แม้ว่าอาจจะทำได้ช้า แต่เขาก็คิดใหม่ คิดว่าทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้ไม่ได้มาแค่ทำงานแล้วกลับบ้าน เพราะเขาต้องการแรงงานระยะยาวอยู่แล้ว ถ้าให้แค่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) พอหมดเวลา แรงงานเหล่านี้ก็กลับไป แล้วเขาอาจจะได้แรงงานใหม่ซึ่งไม่มีทักษะการทำงาน ทักษะด้านภาษา หรือทักษะด้านสังคม แบบที่คนเก่ามี แต่เขาคิดว่าทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถอยู่ในเกาหลีใต้ได้โดยมีสวัสดิการที่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้กระบวนการย้ายถิ่นฐานชั่วครั้งชั่วคราวมีลักษณะที่ถาวรหรือยาวนานขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศเกาหลีใต้ในระยะยาว”

“อย่างกรณีของไทยก็เหมือนกัน ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านหรือแรงงานที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เขาก็รู้เรื่องกฎระเบียบสังคม ภาษา และการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย ถ้าเราต้องการแรงงานใหม่ๆ หน้าใหม่อยู่เรื่อยๆ มันก็ต้องเกิดการปรับตัวเรื่อยๆ ทั้งคนในสังคมไทยรวมถึงคนจากสังคมใหม่ที่เข้ามา เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้เกิดการอยู่อาศัยร่วมกัน ช่วยโอบอุ้มเศรษฐกิจให้กันและกันได้ยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นนโยบายที่ผมคิดว่าหลายๆ ประเทศทั้งในยุโรปและเกาหลีใต้เองพยายามที่จะทำ”

ทัศนคติ = อุปสรรคต่อการเปิดรับแรงงานข้ามชาติ

รศ.จักรกริช เผยว่า อุปสรรคสำคัญในการเปิดรับผู้อพยพ คือ ทัศนคติของคนในชาติที่มีต่อผู้อพยพหน้าใหม่ที่เข้ามาอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งทัศนคติเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่น โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ

“เป็นอุปสรรคแน่นอน ยกตัวอย่างกรณีของเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา หรือในหลายๆ ประเทศ เขาไม่ได้มองแค่พลเมืองของตัวเอง แต่มองว่าส่วนประกอบของความเป็นสังคมและเศรษฐกิจ มีทั้งพลเมือง (Citizens) และคนที่ไม่ใช่พลเมือง (Non-citizens) เพราะฉะนั้น ความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ คือ การที่คนทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจมีความมั่นคงเท่ากัน ถ้าคุณไปสหรัฐอเมริกา อย่างที่มีข่าวอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะเขาถือว่าคุณเข้าไปในสังคมแล้ว คุณไปเดินอยู่ที่ไหนต่อไหน หรือไปทำงานอะไรก็แล้วแต่ คุณเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้นแล้ว”

“หลักเกณฑ์ความเป็นพลเมืองใช้ได้บางอย่าง เช่น การคุ้มครองดูแลจัดการสังคม แต่ความเป็นพลเมืองของรัฐมันไม่ได้ถูกนำมาใช้อธิบายหรือจัดการทุกอย่าง เช่น เรื่องของโรคระบาดมันไม่มีพรมแดนของความเป็นพลเมืองหรือไม่เป็นพลเมือง การยึดติดกับความเป็นพลเมืองของรัฐอย่างตายตัวใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย สวัสดิการจะต้องมีให้กับคนทุกคนที่มีส่วนในการเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน บางอย่างใช้เรื่องพลเมืองได้ แต่ในบางอย่างจะต้องก้าวข้ามให้พ้นแนวความคิดแบบนี้”

ถ้าไทยเกิดการอพยพครั้งใหญ่จะส่งผลกระทบอย่างไร

“กระแสที่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะมองว่าเป็นแค่กระแส แต่ผมคิดว่ามันอยู่ในใจของหลายคน แน่นอนว่าใน 100 ร้อยคน ไม่ใช่ว่าทั้ง 100 คนจะอพยพออกไปได้ แต่ผมคิดว่ามันจุดประกายความคิดที่สำคัญให้กับคนในยุคนี้ที่จะเริ่มคิดใหม่ว่าเขาเองไม่ได้เกิดและตายที่นี่ หรือว่าไม่จำเป็นจะต้องใช้ชีวิต เผชิญ อดทน หรือกล้ำกลืนอยู่กับสังคมซึ่งเขาไม่ปรารถนา มีคนจำนวนมากที่เขามีโอกาส มีทางเลือกที่จะไปอยู่ที่อื่นได้ แม้เราจะบอกว่านี่เป็นประชากรจำนวนไม่มากนัก และก็มีคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรอกที่จะอพยพไปได้ แต่ผมคิดว่าเมื่อไรก็ตามที่มันเกิดความคิดเหล่านี้ขึ้นในใจของคนแล้ว ระยะยาวมันจะเกิดกระแสการอพยพเคลื่อนย้ายของคนไปอยู่ที่อื่นมากขึ้น”

“เราจะต้องเผชิญข้อจำกัดของคนอีกเยอะ ถ้าเกิดว่าเราดำรงอยู่ในสังคมแบบนี้ แม้ว่าคนที่อยู่ในประเทศไทยแล้วไปที่อื่นไม่ได้ แต่ว่าใจเขาไปที่อื่นแล้ว เหมือนกับคนที่อยู่ในองค์กร คุณไปที่อื่นไม่ได้หรอก คุณต้องทำงานอยู่ที่นี่ คุณไม่มีความสามารถ ไม่มีโอกาส แน่นอนว่าต้องเคยเกิดขึ้นกับหลายๆ คน แต่แม้กระทั่งคนที่อยู่ในองค์กรแล้วมีความคิดแบบนั้น เขาก็ทำงานให้องค์กรได้ไม่เต็มที่แล้ว เพราะเขาไม่มีใจแล้ว เขาก็อยู่ไปงั้นๆ ความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่เกิดขึ้น อยู่แบบตายซาก เราต้องระวังเรื่องนี้เพราะว่าประกายของความคิดในเรื่องนี้จะก่อให้เกิดแรงเฉื่อยในระยะยาวให้แก่สังคม ผมคิดว่ายังไม่สายที่เราจะเริ่มคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่จะให้โอกาสกับคน ให้คนเหล่านี้ได้เอาพลังงานที่เยอะออกมาทำให้ประเทศดีขึ้น” รศ.จักรกริช กล่าว

ฝากถึงคนที่คิดอยากย้ายประเทศ

“อย่างแรก ผมสนับสนุนการที่เรามองไปยังโลกกว้าง เราเกิดที่นี่ เราอาจจะเติบโตที่นี่ แต่ผมคิดว่ามันมีโลกที่กว้าง[กว่านี้]เยอะเลย ไม่ว่าเราจะสามารถเดินทางได้หรือไม่ได้ แต่การเรียนรู้โลกที่กว้างออกไป มันทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ แล้วก็น่าเสียดายที่ว่าหลายๆ คนอาจจะไม่ใช่คนรุ่นใหม่เท่าไร คนรุ่นผมหรือก่อนหน้านี้ก็เห็นโลกนะ แต่กว่าการไปเห็นโลกมีหลายแบบ ไม่เหมือนกัน บางคนเห็นโลกแล้วเรียนรู้ มองดูสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกแล้วกลับมาตั้งคำถามต่อถึงสิ่งที่ตัวเองดำรงอยู่ อันนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าบางคนเรียนรู้โลกแล้วก็เอาความเป็นไทย เอาความเป็นเราไปจับสิ่งอื่นทั้งหมดเลย อันนั้นมันมีฐานอคติอยู่ เราอาจจะเรียกว่าเป็น Ethnocentrism หรือการเอาความเป็นชาติ ความเป็นตัวตนของตัวเองไปจับว่าคนอื่นเขาทำไมไม่ดีเท่าเรา”

“ผมคิดว่าการที่เราจะออกไปข้างนอก ในเชิงความคิดแล้วมันดีมากๆ แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันต้นทุน มีความเสี่ยง การอพยพของผู้คนจำนวนมากไม่ใช่ว่าเป็นกระบวนที่ง่าย อาจจะต้องเผชิญกับการถูกลดทอนสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของตัวเองลง หรืออาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การพิสูจน์ตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะไปเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก เราจะต้องมีวินัย เราจะต้องสร้างตัวเอง เราจะต้องพยายามมากขนาดไหน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็น่าจะเป็นแรงในการผลักดันตัวเองได้” รศ.จักรกริช กล่าวทิ้งท้าย

ชมวิดีโอสัมภาษณ์ “เมื่อคนเกาหลีย้ายประเทศ ในสังคมเผด็จการ” กับ รศ.จักรกริช สังขมณี

-- advertisement --