-- advertisement --

12 พฤษภาคม 2564 | โดย ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ | คอลัมน์ แกะดำทำธุรกิจ

6

การพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประเทศหลุดออกจากการติดหล่ม คนที่เข้ามาบริหารต้องเข้าใจบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปมหาศาล เป้าหมายคือต้องสร้างคนให้เก่งในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่เก่งแต่ในห้องเรียน

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมประเทศนี้อยากสร้างขีดขั้นความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก แต่ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญเพียง “สร้างถาวรวัตถุ” เป็นถนนหนทาง รถไฟความเร็วสูง หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนหลายแสนล้านบาท

ขอตั้งคำถามว่าเราลืมอะไรไปหรือเปล่า ที่เป็นสุดยอดในการพัฒนาแผ่นดินเกิด นั่นคือการสร้าง “คน” ให้มีความแข็งแรงทางความคิด มีขีดขั้นความสามารถที่คนของเราลงสนามในเวทีโลกอย่างไม่น้อยหน้าใคร ผมไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลไหนเลย

ลองคิดเล่นๆ อย่างนี้ ถ้าคนมีคอมพิวเตอร์ดีที่สุดอยู่ในมือ แต่ไม่มีความชาญฉลาดที่จะใช้เครื่องมือสุดวิเศษนั้น ก็เท่ากับว่าคนคนนั้นถือ “ก้อนหิน” ไว้ในมือ ผมไม่ได้บอกว่าการพัฒนาประเทศโดยสร้างถาวรวัตถุไม่สำคัญ ผมต้องการสื่อสารว่าการพัฒนาประเทศต้องทำควบคู่กันทั้ง “สร้างคน” และพัฒนาถาวรวัตถุ และการสร้างคนมีความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะถ้าประเทศเรามีของเลอเลิศทางถาวรวัตถุ แต่ “คน” ขาดความพร้อม สิ่งที่ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานมันสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

ลี กวนยู เคยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ From third world to first เมื่อเขานำประเทศสิงคโปร์แยกตัวออกมาจากมาเลเซีย รัฐบาลของเขามีประชาชนแค่กระหยิบมือเดียว เขาเรียกประเทศเขาตอนนั้นว่าเป็น Backwater Country เป็นประเทศที่อยู่หลังเขา ลี กวนยูตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างสิงคโปร์ให้อยู่ใน Top Tier Rank ของโลก สิ่งที่เขาทำคือ “สร้างคน” ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ 

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนในประเทศเขายังยืนทำธุระส่วนตัวข้างถนน เขาสร้างกระบวนการทุกอย่างให้ “ประชาชน” มีความแข็งแรงผ่านระบบการศึกษาและกระบวนการอื่นๆ ที่รัฐสร้างเป็นนโยบายในการพัฒนาคน 50 ปีผ่านไปด้วยประชากร 5 ล้านคน สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าในภูมิภาคนี้ บริษัทข้ามชาติเลือกที่จะไปตั้งสำนักงานภูมิภาค เพราะคนของเขามีความพร้อม เป็น skillful human resource พวกเขาใช้เวลาเพียง 50 กว่าปีที่ใช้คนสร้างประเทศให้ยืนที่ระดับท็อปของโลก

ส่วนเรายังเดินเรื่อยๆ มาเรียงๆ เพราะขาดความชัดเจนในเรื่องการพัฒนาคนให้เป็นระบบ อะไรคือกลไกสำคัญในการสร้างคน เริ่มต้นจากระบบการศึกษาที่ต้องทุบระบบเก่าทิ้ง แล้วเริ่มต้นทำใหม่ ผมไม่เชื่อว่าการทำไมเนอร์เชนจ์ของระบบการศึกษา คือคำตอบของการแก้ปัญหา เพราะโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปอย่างที่ระบบการศึกษาเก่าไม่มีทางที่จะวิ่งตามทัน ต้องเซตซีโร่สร้างระบบใหม่

การที่ประเทศเราจะออกจากการติดหล่ม คนที่มาบริหารใหม่ต้องเข้าใจบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปมหาศาล เป้าหมายคือต้องให้ “คน” ของเราเก่งในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่เก่งแต่ใน “ห้องเรียน” ถามว่าเพราะอะไร ห้องเรียนเป็น close boundary ในขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงเป็น open boundary ห้องเรียนมีคำตอบที่ถูกเพียง “ข้อเดียว” ในขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงคำตอบทุกข้อเป็นคำตอบที่ถูกได้ ห้องเรียนกับโลกแห่งความเป็นจริงจึงเป็นสิ่งที่มีความแตกต่างกันมหาศาล

ปัญหาใหญ่ที่ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไม่ได้ ถ้าให้ผมเดามาจากผู้บริหารการศึกษาที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำตัวเป็น “ไม้ขวางถนน” ทำให้สังคมไทยวนอยู่ในอ่างกะละมัง ทราบไหมครับงบประมาณของกระทรวงศึกษาของประเทศมีมูลค่าสูงมาก แต่ขาดการบริหารจัดการที่ทันกับยุคดิจิทัล ทำให้คนไทย “ติดกับดัก” ปัญหาเรื่องการศึกษาของบ้านเราเกิดจากการบริหารจัดการโดย “old school thinker” เราต้องรื้อระบบอย่างถอนรากถอนโคน นำนักการศึกษาหัวก้าวหน้าพร้อมคนนอกที่มีไฟอยากช่วยประเทศเข้ามาเขียน “แผนแม่บท” ระบบการศึกษาสำหรับทศวรรษ 21 อะไรคือเป้าหมายของระบบการศึกษาใหม่ 

หัวใจคือสร้าง “ปัญญา” สอนให้คนเรียนมี “วิธีคิด” ของตัวเอง เพราะปัญญาทำให้ “คนคิดเป็น” ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเรียนหนังสือเพื่อ “จำ” องค์ความรู้ ความล้มเหลวของระบบการศึกษาคือ “ยัดเยียด” ความรู้จนล้นสมอง คนเรียนขาดวิธีคิด นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะยกระดับของกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นกระทรวงเกรดทริปเปิลเอ

เพื่อนผมซึ่งเป็นอาจารย์ในระบบการศึกษาให้ความเห็นที่ดีมากในเรื่องการรื้อระบบการศึกษา เขายกตัวอย่างสองข้อว่า ประการแรก เราต้องให้คนเก่งคนมีความสามารถมายึดอาชีพ “ครู” พร้อมปรับผลประโยชน์ตอบแทนของอาชีพครู เป็นเครื่องมือจูงใจให้คนเก่งมาเดินบนเส้นทางนี้ ประการที่สอง การประเมินผล “ครู” จะเก่งหรือไม่เก่ง ไม่ได้อยู่ที่ทำรายงานวิจัยดีเด่นขนาดไหน วิธีวัดผลคือดูจากผลลัพธ์ นั่นคือลูกศิษย์ของครูแต่ละคนเมื่ออยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนเหล่านั้นฝีมือแน่ขนาดไหน นี่คือเครื่องมือวัดผลที่สะท้อนความเป็นจริงของอาชีพ “ครู” 

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ระบบการศึกษาต้องสอดแทรกเครื่องมือกระตุ้นให้ผู้คนรู้จักสร้างกระบวนการ “พัฒนาตัวเองตลอดชีวิต” เพราะโลกทุกวันนี้สิ่งที่คุณเรียนไป ไม่กี่ปีจะล้าสมัย ประเด็นคือโลกทุกวันนี้เป็น dynamic world และ self development process คือสิ่งที่ขาดหายไปทำให้ระบบสร้างคนของเรามีช่องโหว่ 

ขอยกตัวอย่างของตัวเองเพื่อสาธิตว่าการพัฒนาตัวเองมีความสำคัญอย่างไร ผมเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาของประเทศนี้ ไม่เคยเรียนต่างประเทศ จบปริญญาตรีเป็นวิศวกร ค้นพบว่าไม่ชอบอาชีพนี้ ผมเริ่มต้นใหม่จากจุดศูนย์ พัฒนาตัวเองเป็นคนโฆษณา นักการตลาด จนสุดท้ายค้นพบว่า my best quality คือเป็น business strategist ผมเดินทางมาถึงวันนี้ได้ด้วยการ “สอน” ตัวเอง สะสมทุกวัน ทำตลอดชีวิต ค้นหาวัตถุดิบชั้นเลิศมาเพิ่มหยักในสมองให้เป็นเนื้อแท้ตามดีเอ็นเอที่คุณพ่อและคุณแม่ให้มาตั้งแต่เกิด

ผมขอให้ความเห็นเรื่องการสร้างคนที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้องค์กรของคนไทยไปปักธงไตรรงค์ในเวทีโลกไม่ได้ ผมสังเกตเห็นปรากฏการณ์อันหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจ ผู้บริหารขององค์กรยินดีลงทุนสร้างโรงงานเป็นหลักพันล้านบาท กล้าทุ่มทุนหลักหลายร้อยล้านบาทเพื่อสร้างเทคโนโลยีไอที แต่ถ้ามีข้อเสนอให้ลงทุนในกระบวนการพัฒนา “คน” มูลค่าหลายสิบล้านบาท ข้อเสนอนั้นจะถูกเก็บไว้ในลิ้นชักทันที

แล้วองค์กรจะเดินหน้าด้วยอะไรครับ “คน” คือทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด แต่ในมุมกลับองค์กรส่วนใหญ่จะกระมิดกระเมี้ยนที่จะลงทุนกับการพัฒนาบุคลากร

ตัวอย่างหนึ่งที่จะสื่อสารเรื่องนี้คือ Netfix องค์กรที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วไม่ได้อยู่ในเรดาร์ของโลกธุรกิจเลย จุดหักเหเกิดขึ้นเพราะ Reed Hasting ที่เป็นซีอีโอมีความทะเยอทะยานต้องการสร้างบริการสตรีมมิ่ง เขาร่วมกับ Patty McCord ซึ่งเป็น Chief Talent Officer สร้างนโยบาย “คน” ที่มีความแตกต่าง ออกแบบวัฒนธรรมที่มีความพิเศษเพื่อให้เน็ตฟลิกซ์เป็นสังคมแห่งความเป็นเลิศ ทำให้ภายในเวลาไม่นานเน็ตฟลิกซ์กลายเป็น poster child ของวงการบันเทิงที่วันนี้มีมูลค่า 239,000 ล้านดอลลาร์ ความสำเร็จเกิดจาก “พลังของคน” ถ้าผู้อ่านอยากทราบความพิเศษของคนของเน็ตฟลิกซ์ ผมแนะนำให้ไปอ่านหนังสือชื่อ Powerful ที่แต่งโดย Patty McCord

สร้างคนแล้วคนจะไปสร้างประเทศ คนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรงครับ

-- advertisement --