-- advertisement --
โควิด
PHOTO : PIXABAY

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้ผื่นขึ้นร่วมอาการทางเดินหายใจ คนเสี่ยงแยกกักตัว 14 วัน

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 มติชนรายงาน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีแนวทางการไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังมีข้อมูลว่าคนมีตาแดง เกิดผื่นเป็นอาการใหม่ของโรคด้วย ว่า ตอนนี้ยอมรับว่าอยู่ในภาวะตระหนก พอคนกลัวและตระหนก ก็ไปตรวจหาเชื้อ

ซึ่งคิดว่าทุกคนต้องมีเหตุและผลในการไปตรวจ ต้องคิดก่อนว่าตัวเองเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ ซึ่งจากการศึกษาระลอกแรกปีที่แล้ว เห็นชัดว่า กรณีสัมผัสในครอบครัว หากใครคนหนึ่งเป็น เราถือว่าคนในครอบครัวนั้นเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพราะเห็นการติดเชื้อจำนวนมาก จึงเห็นด้วยว่าควรต้องไปตรวจ

“แต่ถ้าสัมผัสที่ทำงาน สมมุติมีคนหนึ่งเป็นในที่ทำงาน แล้วที่ทำงานมีคนจำนวนมาก เราเคยศึกษาแล้ว โอกาสติดที่ทำงานน้อยมาก ส่วนใหญ่ติดในที่ทำงานเกิดจากผู้สัมผัสใกล้ชิดจริง ๆ เช่น กินข้าวด้วยกัน พูดคุยสนทนากัน เมื่อเหตุผลเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าที่ทำงาน 1 คนเป็น ไม่จำเป็นว่าทุกคนในที่ทำงานต้องไปตรวจ ถ้าเรามีโอกาสสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยถือว่าอาจจะเสี่ยงสูง ไม่ใช่ว่าทั้งที่ทำงานทั้งหมดต้องไปตรวจ” นพ.ยงกล่าว

นพ.ยงกล่าวว่า แต่ถ้าใครเป็นที่ทำงาน เราคิดว่าเราอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ให้สังเกตอาการของเรา มีอะไรผิดปกติเข้าได้ที่กับการป่วยโรคนี้ไหม สำคัญคือการปฏิบัติตน ถ้าเคร่งครัดใส่หน้ากาก 100% ล้างมือบ่อย ๆ กำหนดระยะห่าง ไม่ไปรวมคนหมู่มาก เมื่อผ่าน 14 วันแล้วก็สบายใจได้

“ส่วนข่าวที่ว่าโรคนี้มีผื่นขึ้นก็เป็นไปได้ ต้องยอมรับว่าทุกโรคการแสดงอาการต่าง ๆ มีได้เกือบทุกรูปแบบ ท้องเสียก็ได้จากสาเหตุสารพัด ฉีดวัคซีนท้องเสียได้ ขึ้นผื่นได้ อาจเกิดจากวัคซีนหรือไม่ก็ได้ การป่วยโรคโควิด-19 ก็มีผื่นขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ไม่ใช่ผื่นขึ้นนิดนึงแล้วสงสัยโควิดเลย คงไม่ใช่แน่นอน จะต้องมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย

เช่น ไอ เจ็บคอ อาการทางเดินหายใจ มีไข้ ขอให้เอาอาการหลัก คือ อาการทางเดินหายใจ เพราะโรคนี้คือโรคทางเดินหายใจ ไม่ใช่ไม่มีอาการอะไรเลยแล้วมีผื่นขึ้น แล้วจะบอกว่าคนนี้ต้องไปตรวจโควิด ขอให้สร้างความเข้าใจว่า ไม่เกี่ยวข้องกันเลยว่า มีผื่นอย่างเดียวแล้วเป็นโควิด ขอให้ตระหนักว่า เน้นอาการระบบทางเดินหายใจร่วมกับไข้เป็นหลัก” นพ.ยงกล่าว

นพ.ยงกล่าวว่า ตอนนี้พบโรคโควิด-19 สูงสุดในกลุ่มคนอายุ 20-39 ปี คนวัยหนุ่มสาวร่างกายแข็งแรงอาการของโรคน้อยมาก โอกาสลงปอดและเสียชีวิตอายุต่ำกว่า 30 ปีลงแทบจะน้อยมาก แต่ที่เป็นห่วงในช่วงสงกรานต์ โดยฝากว่าถ้าเคลื่อนย้ายจากที่ไหนก็ตาม กลับไปหาญาติผู้ใหญ่ ต้องคิดว่าต้องปกป้องญาติผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ ต้องดูแลตนเองใส่หน้ากาก 100% ล้างมือ รดน้ำขอพรแบบมีระยะห่างมากที่สุด การฉลองเฮฮาตั้งวงเหล้าต่าง ๆ ควรงดทั้งหมด เพื่อไม่ให้แพร่กระจายของโรคไปยังผู้อาวุโสที่เรานับถือ และทำให้เสียชีวิตได้

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า สำหรับการติดเชื้อในเด็ก มักเกิดจากผู้ใหญ่นำไปให้ โดยโรคนี้เป็นโรคที่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ดังนั้น ในเด็กความรุนแรงต่ำมาก อาการเหมือนโรคทางเดินหายใจอื่น กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี เคลียร์ไวรัสได้ดี อาการของโรคสั้นกว่าผู้ใหญ่

แต่ที่ต้องคิดถึงอนาคตคือเด็กโต วัยรุ่น มัธยมที่อยู่รวมกัน เมื่อคุมผู้ใหญ่ได้ดีแล้ว ต้องคุมกลุ่มนักเรียนต่อ หลายประเทศจึงพัฒนาวัคซีนเพื่อมาฉีดในนักเรียน เกือบทุกบริษัทกำลังมาศึกษาในเด็ก และเชื่อว่าจะมีวัคซีนที่ใช้ในเด็กโตในเร็ววันนี้ สำหรับเด็กที่ติดเชื้อ ส่วนการไปห้างยังไปได้ไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้อง่าย เพราะสถานที่ใหญ่ กว้าง โอกาสคุยกันก็ไม่ตะโกน แต่ขอให้เคร่งครัดการใส่หน้ากาก

-- advertisement --