-- advertisement --

เปิดประวัติ “ดร.โกร่ง” ในเส้นทางการเมือง-ธุรกิจ

ภายหลังจากที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสียชีวติลงด้วยวัย 78 ปี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนนั้น

ทั้งนี้สำหรับประวัติของดร.วีรพงษ์ หรือดร.โกร่งนั้น นอกจากตำแหน่งทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ยังรับตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานบริษัทเอกชนด้วย ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจในหลายรัฐบาล อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เดิมชื่อ ประดับ บุคคละ เกิด 1 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายร้อยตำรวจตรี ประดิษฐ์ รามางกูร (แดง) หรือประดิษฐ์ บุคคละ และนางบุญศรี รามางกูร (สกุลเดิม เกิดเล็ก) เชื้อสายฝ่ายปู่เป็นตระกูลเจ้านายลาวเวียงจันทน์ผู้ปกครองเมืองธาตุพนม (เมืองพนม) ในอดีต เชื้อสายฝ่ายย่าเป็นตระกูลเจ้านายภูไทเมืองวังผู้ปกครองเมืองเรณูนคร (เมืองเว) ในอดีต ปัจจุบันคืออำเภอธาตุพนมและอำเภอเรณูนครในจังหวัดนครพนม

ทั้งนี้ดร.วีรพงษ์ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย 1.วีรพงษ์ รามางกูร 2.นางสาวนพรัตน์ รามางกูร (หนูแดง) 3.จ.ส.ต. วีรศักดิ์ รามางกูร 4.

นางวิไลลักษณ์ รามางกูร (นีโบน) สมรสกับนายเควิน นีโบน (Kevin Kneebone) 5.นางศิริพร รามางกูร (ธะเศรษฐ) สมรสกับนายกฤตย์ ธะเศรษฐ

และ 6.ด.ช.วิโรจน์ รามางกูร (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเด็ก)

ทั้งนี้ ดร.วีรพงษ์มีบุตรธิดา 3 คน คือ 1.นางสาววรมน รามางกูร 2.นายวีรมน รามางกูร 3.นายวรวงศ์ รามางกูร

เมื่อวัยเยาว์นั้นกรุงเทพมหานครเกิดสงคราม ดร.วีรพงษ์ รามางกูร จึงได้ย้ายไปอาศัยอยู่กับยายซึ่งมีอาชีพทำนา ที่อำเภอบางบ่อ โดยมีป้าเป็นผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด ส่วนบิดาทำงานอยู่ที่โรงพักบางรักแล้วย้ายไปอยู่พญาไท ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานตามบิดาไปอยู่ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยอาศัยอยู่กับเจ้าพระอุปฮาต (เฮือง รามางกูร) ผู้เป็นปู่ที่ธาตุพนมเป็นเวลาถึง 7 ปี ด้วยปัญหาความขัดแย้งของตระกูลเจ้านายธาตุพนมเดิม เป็นเหตุให้เจ้าพระอุปฮาต (เฮือง รามางกูร) ซึ่งแต่เดิมใช้สกุล บุคคละ ตามพี่ชายคนโตคือ เจ้าพระอัคร์บุตร (บุญมี บุคคละ) เจ้าพระอุปฮาตได้ปรึกษากับบุตรชายคนรองคือ นายดวง รามางกูร (ป.ธ., พระราชทานเพลิง) ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของวีรพงษ์ รามางกูร ตั้งสกุลรามางกูรขึ้นใหม่ เป็นเหตุให้ทายาทสกุลบุคคละเดิม และดร.วีรพงษ์ต้องเปลี่ยนสกุลจากบุคคละมาเป็นรามางกูรตามปู่และบิดาของตน

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นคนเฉลียวฉลาดมีสติปัญญาดีมาก และมีความขยันขันแข็งพากเพียร ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนเป็นอันดับ 1 ในชั้นเรียนมาโดยตลอด จนเป็นที่เล่าลือและชื่นชมในหมู่ญาติและครูอาจารย์ เมื่อวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่ตัวจังหวัดนครพนม คือโรงเรียนเทศบาล 2 และโรงเรียนสุนทรวิจิตร จนจบประถม 4 ก่อนจะย้ายตามบิดาเข้ากรุงเทพมหานคร อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2496 ฝ่ายบิดานั้นได้ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนศรีอยุธยา เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ รุ่นเดียวกับสุรศักดิ์ นานานุกูล เมธี ครองแก้ว และศิริบุญ เนาถิ่นสุข จากนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง เป็นคนแรกจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่ศึกษาอยู่ก็สอบได้เป็นอันดับ 1 มาตลอดทุกเทอม

ต่อมาได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต ร่วมมือกับ ศ. บำรุงสุข สีหอำไพ ก่อตั้งแผนกอิสระสื่อสารมวลชน ซึ่งต่อมาคือคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่นานจึงได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เข้าศึกษาต่อทางด้านวิชาเศรษฐมิติ (Econometrics) ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกานาน 5 ปีครึ่ง และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์มอบทุนค่าใช้จ่ายให้มากสุดถึงเดือนละ 300 เหรียญ เป็นเหตุให้หลังจากกลับจากการศึกษาต่อ วีรพงษ์สามารถสร้างบ้านส่วนตัวหลังแรกได้สำเร็จ ต้นปี พ.ศ. 2515 ได้กลับมาเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2519 อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร สังกัดธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังปี พ.ศ. 2526 เข้าทำงานที่สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จากนั้น พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลประเทศลาว ในการวางแผนเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมมาเป็นระบบทุนนิยม ตามนโยบายเปิดประเทศ เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน และยกย่องกันว่าทางรัฐบาลลาวได้ไว้วางใจและนับถือ วีรพงษ์ รามางกูร ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศลาวเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ได้ให้วีรพงษ์ เข้าไปช่วยเหลือการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการเงินและเศรษฐกิจของลาว

หลังจากจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2508 ดร.วีรพงษ์ ได้บรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในฐานะผู้บุกเบิกสร้างแผนกอิสระสื่อสารมวลชนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาเป็นคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้น วีรพงษ์ ได้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ จบปริญญาโท และปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ได้เข้าเป็นอาจารย์สอนที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกของไทยที่สอนทางด้านเศรษฐมิติ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-- advertisement --