-- advertisement --

เขียนวันที่

วันอาทิตย์ ที่ 06 พฤศจิกายน 2565 เวลา 23:28 น.

burma06110

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมากลางงานเฉลิมฉลองการจัดตั้งองค์กรอิสระคะฉิ่น ซึ่งเป็นรัฐทางตอนเหนือของประเทศ ก่อผลกระทบอย่างลึกซึ่งทั้งต่อสถานการณ์ภายในเมียนมาเอง และท่าทีของประชาคมโลก รวมทั้งอาเซียน

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาเชื่อว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสงครามกลางเมืองของเมียนมา สะเทือนถึงแผนจัดการเลือกตั้งช่วงกลางปีหน้า และยิ่งทำให้สันติภาพเลือนรางยิ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญงานนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย…

——————————

ความพยายามของรัฐบาลทหารเมียนมาในการชักชวนให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หันเข้ามาร่วมเจรจาและสร้างกระบวนการสันติภาพให้เกิดความต่อเนื่องภายหลังจากการรัฐประหารเป็นต้นมานั้น สวนทางกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา

นั่นคือ…การทิ้งระเบิดในพื้นที่ “อ่ะนางปา” ซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อนของนักเดินทาง อยู่ในเขตพื้นที่ของ กองทัพคะฉิ่นอิสระ ซึ่งในขณะเกิดเหตุนั้น มีการเฉลิมฉลองการจัดตั้งองค์กรอิสระคะฉิ่น ครบรอบ 62 ปี

หากพิจารณาบริบทของสถานการณ์แล้วจะพบว่า การต่อสู้ของกองกำลังคะฉิ่นกับรัฐบาลทหารเมียนมานั้น มีอยู่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สหภาพพม่า หรือเมียนมา ได้รับเอกราชเป็นต้นมา

จุดเด่นของกองทัพคะฉิ่น หรือ KIA นั่นก็คือเป็นกองกำลังที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเป็นกองกำลังที่เปิดกว้างต่อการพัฒนาและรูปแบบการสร้างประเทศให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากล แม้ว่าในพื้นที่จะมีปัญหาในแง่ของการทำกิจการขุดเหมือนแร่ ซึ่งในหลายครั้งก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมแร่ถล่มด้วยก็ตาม

อย่างไรก็ดี สำหรับในบริบทการดูแลประชาชนแล้วจะพบว่า ในพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น แม้ว่ากองกำลังของทหารเมียนมาจะไม่สามารถเข้ายึดพื้นที่ได้ แต่ในส่วนของกองกำลังของคะฉิ่นถือได้ว่ามีศักยภาพในการดูแลประชาชนของตนเองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา

ท่าทีของกองกำลังอิสระแห่งคะฉิ่น หรือ KIA ซึ่งเป็นปีกทางทหาร, และองค์กรอิสระคะฉิ่น KIO ซึ่งเป็นปีกทางด้านการเมืองนั้น มีความน่าสนใจนับ ตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากได้ให้ความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลเงา” ของเมียนมาในการต่อสู้และโค่นล้มรัฐบาลทหาร หรือ SAC

ปฏิบัติการของกองกำลังคะฉิ่นที่ผ่านมาถือได้ว่าสร้างแรงกดดันต่อกองทัพเมียนมาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการต่อสู้ในพื้นที่รอยต่อกับรัฐและเขตปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์พันธมิตร โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆในทางยุทธศาสตร์

กล่าวได้ว่า จุดแข็งที่สุดของกองกำลังคะฉิ่น คือการสร้างปีกพันธมิตรได้อย่างกว้างขวางทั้งในแง่กับการพูดคุยกับกลุ่มกองกำลังในแนวร่วม FPNCC โดยเฉพาะกลุ่มว้า รวมทั้งการเป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย สามารถสร้างช่องทางพูดคุยกับแนวร่วมในกลุ่มประเทศตะวันตกได้เป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่า กองกำลังของคะฉิ่นคือเสาหลักที่สำคัญในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมาในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเป็นผู้นำในการปิดล้อมกองทัพเมียนมาในพื้นที่ภาคเหนือ

จากสาเหตุดังกล่าวนี้จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากกองทัพเมียนมาจะพิจารณาว่ายุทธศาสตร์ในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านที่สำคัญ คือการตัดกำลังการสนับสนุนจากกองกำลังคะฉิ่นต่อกองกำลังปกป้องประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ในเขตภาคเหนือ ซึ่งจะสามารถลดทอนความเข้มแข็งทางด้านการทหารลงได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น สิ่งที่กองกำลังคะฉิ่นอิสระประสบความสำเร็จอย่างมากในการต่อสู้ทางด้านกลับกับกองทัพเมียนมา นั่นก็คือการไม่เปิดพื้นที่ให้กองทัพเมียนมาสามารถโจมตีทางอากาศต่อเขตที่ตั้งทางทหารของกองทัพคะฉิ่น ทั้งการกระจายตัวในเขตพื้นที่ป่าและการรบนอกเขตพื้นที่ควบคุม

burma06117

การหันกลับมาตอบโต้กองกำลังคะฉิ่นด้วยการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ “อ่ะนางปา” ใกล้เขตพื้นที่การควบคุมของกองพลที่ 6 ห่างประมาณ 10 กิโลเมตร ในขณะที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 62 ปีการก่อตั้งองค์กรอิสระคะฉิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบที่น่าสนใจว่า การขับเคลื่อนและโครงสร้างการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองของเมียนมาจะพัฒนาการไปในทิศทางใด?

โดยอย่างน้อยที่สุดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จากก่อให้เกิดผลกระทบ 3 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก แนวโน้มการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น (KIA) กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ชิน (CNF) กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์คะยาห์ (KNPP) กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งได้ร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) มีความเป็นไปได้น้อยลง

ในทางตรงกันข้าม โศกนาฏกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดการลุกฮือต่อสู้ขึ้นในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ในเขตพื้นที่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แนวโน้มการขยายตัวของสงครามกลางเมืองซึ่งมีปฏิบัติการการพยายามเข้ายึดเขตพื้นที่สำคัญ เช่น ในเขตพื้นที่ของกองพลที่ 6 โดยกองกำลังกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดเมียวดี ก็มีความพยายามที่จะยึดครองที่ตั้งของทางราชการ อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการรบในอดีตที่มีเฉพาะในเขตป่าเท่านั้น

ประการที่สอง ความคาดหวังที่ว่ากองทัพเมียนมาจะจัดการเลือกตั้งภายในกลางปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างความชอบธรรมและจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามการลุกฮือและการต่อต้านก่อนถึงระยะเวลาการเลือกตั้ง และแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้ว การโหมกระพือการต่อสู้เพื่อโค่นล้มกองทัพเมียนมาจะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ยิ่งไปกว่านั้น การเดินหน้าปราบปรามฝ่ายต่อต้านโดยไม่จำกัดเขตพื้นที่ หรือแม้แต่กระทั่งเป้าหมายในการโจมตีอย่างชัดเจน ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมแก่ประชาชน จะยิ่งกลายเป็นการสลายแนวร่วมหรือผู้ที่ให้การสนับสนุนรัฐโดยตรง

ทั้งนี้จะพบว่าเมื่อประชาชนไม่สนับสนุนกองทัพแล้ว ในแง่ยุทธวิธีทางการทหารจะยิ่งกลายเป็นแรงซ้ำเติมทำให้กองทัพเมียนมาไม่สามารถเกณฑ์กำลังพลมาสนับสนุนกองทัพทดแทนการสูญเสียได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีเป็นจำนวนมาก

ประการที่สาม การโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น ซึ่งก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมความสูญเสียแก่พลเรือนเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับ FPNCC ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากกองกำลังของคะฉิ่นนั้นเป็นกลุ่มกองกำลังแนวร่วมที่สำคัญใน FPNCC ซึ่งเป็นพันธมิตรทางด้านการทหารและการเมืองที่แข็งแกร่งมากที่สุดในเมียนมา ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า หรือ UWSA

แม้ว่าในห้วงปีที่ผ่านมากองทัพเมียนมามีความพยายามที่จะผูกมิตรกับหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในแนวร่วม FPNCC แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนต่อสายสัมพันธ์หรือแม้แต่กระทั่งความไว้วางใจในระยะยาวต่อกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะในปีกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือเดิม

ในอีกด้านหนึ่ง ผลที่เกิดกับโครงสร้างสงครามกลางเมืองในเมียนมาในข้างต้น ก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อการดำรงสถานะของประเทศไทยต่อความขัดแย้งในเมียนมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะก่อนการประชุม APEC การสร้างมาตรการเฝ้าระวังของประเทศไทยยังมีความจำเป็นจะต้องให้ความสนใจต่อการพยายามเรียกร้องความสนใจจากประชาคมโลกต่อสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งโดยวิธีการสันติและวิธีการที่ไม่พึงประสงค์

เนื่องจากการประชุมดังกล่าวนี้เป็นการรวมศูนย์กลางของการประชุมผู้นำโลก และในปัจจุบันนี้การทำให้สงครามกลางเมืองในเมียนมาได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับวิกฤติยูเครน กลายเป็นอีกเป้าประสงค์หนึ่งของยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยเช่นกัน

——————————

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์ Burma Campaign Uk

-- advertisement --