-- advertisement --

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า จากที่ กยท. ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายจัดสวัสดิการแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49 ( 5 ) ด้วยการจัดทำโครงการทุนการศึกษาบุตรเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกได้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี ดังนั้นในปีงบประมาณ 2564 กยท.จึงกำหนดดำเนินการโครงการทุนการศึกษาบุตรเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยจะมอบทุนการศึกษาต่อเนื่อง 4 ปี ปีละ 100,000 บาท แก่บุตรของเกษตรกรที่เรียนในระดับปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้องกับยางพาราจนจบการศึกษา จำนวน 10 ทุน รวมเป็นทุนการศึกษาทั้งหมด 4,000,000 บาท

“โครงการฯ ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเรื่องยางพารา ที่มาจากบุตรเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง เพื่อให้เกิดแนวคิดร่วมในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง โดยการสร้างบุคลากรในท้องถิ่นของตนเอง และสร้างนวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางในอนาคต”

นายสุขทัศน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับรายละเอียด ในการรับสมัครและการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีตามโครงการการให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง ประจำปีการศึกษา 2564 ประกอบด้วย เป็นผู้ที่เรียนในสถานศึกษา หรือหลักสูตรการศึกษาที่ กยท. กำหนด ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอร์ลิเมอร์ จำนวน 2 ทุน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอร์ลิเมอร์ จำนวน 2 ทุน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมวัสดุ จำนวน 2 ทุน มหาวิทยาลัยบูรพา คณะโลจิสติกส์ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จำนวน 2 ทุน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ จำนวน 1 ทุน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน คณะวนศาสตร์ สาขาวนศาสตร์ จำนวน 1 ทุน

“ ขณะที่คุณสมบัติผู้ขอรับทุนการศึกษาฯ ต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของเกษตรกรชาวสวนยาง ยกเว้นบุตรบุญธรรม มีอายุไม่เกิน 25 ปี ณ วันที่ยื่นขอรับทุนการศึกษาไม่อยู่ระหว่างถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และไม่อยู่ระหว่างการสมัครขอรับทุนการศึกษาจากหน่วยงานอื่น หรือเคยได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรี ตามประกาศนี้ พร้อมทั้ง ผู้ประสงค์ต้องการรับทุนต้องได้รับพิจารณาตอบรับจากมหาวิทยาลัยให้เข้าศึกษาจากสถานศึกษาที่ กยท. กำหนด ภายในปีการศึกษา 2564 ทั้งนี้ กยท. จะดำเนินการคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุนจากคุณสมบัติตามที่กำหนด”

รองผู้ว่า กยท. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับผู้สนใจสามารถขอรับใบสมัครขอรับทุนการศึกษาได้ที่ กยท. ทุกแห่ง ทั่วประเทศ หรือสามารถดาวน์โหลดใบสมัครขอรับทุนการศึกษาได้ที่เว็บไซต์ กยท. www.raot.co.th กรอกข้อมูลการสมัครให้เรียบร้อย และยืนที่ กยท.เขต/จังหวัด/สาขา ตามที่ตั้งสวนยางของผู้ขอรับทุนการศึกษา

ด้านนางสาวอัษฎาพร จันทร์ทอง นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 1 โดยเลือกเรียนในสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมวัสดุ ด้วยมีเป้าหมายที่จะนำความรู้ที่ได้รับ เช่น การแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไปพัฒนาธุรกิจของครอบครัวที่เป็นผู้ประกอบการด้านรมยางแผ่น

“การที่ได้รับคัดเลือกจาก กยท. ให้ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง 4 ปี รู้สึกดีใจมาก เพราะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับทางบ้านได้เป็นอย่างมาก และต้องขอขอบคุณ กยท.เป็นอย่างมากที่มอบทุนให้ และมีโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือลูกๆ ของเกษตรกรชาวสวนยาง สำหรับเป้าหมายในอนาคตต่อไปนั้น จะพยายามตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เพื่อจะได้นำความรู้ต่าง ๆไปพัฒนากิจการของครอบครัว รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางคนอื่น ๆต่อไป” นางสาวอัษฎาพร กล่าว

ส่วนนางสาวจินตา ลูกเหล็ม นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 1 ในสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมวัสดุ โดยจากที่ทราบว่าข่าวว่า ทาง กยท. มีโครงการมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของเกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ยื่นขอสมัครเข้ารับทุน และเมื่อได้รับการคัดเลือกรู้สึกดีใจมาก พ่อกับแม่ก็ดีใจมากด้วยเช่นกัน

“ดังนั้นจึงตั้งใจว่า ต้องเรียนให้ดีที่สุด เพื่อนำความรู้โดยเฉพาะเรื่องการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุด และอยากเข้าทำงานด้านการวิจัยในองค์กรที่เกี่ยวกับข้องกับยางพารา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพารา” นางสาวจินตา กล่าวในที่สุด

-- advertisement --